คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2511/2559
โจทก์เป็นลูกจ้างหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ถูกนายจ้าง (จำเลย) ยื่นฟ้องและตั้งคณะกรรมการสอบสวนการกระทำผิดฐานกู้ยืมเงินเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ เป็นการทุจริตแสวงหาประโยชน์ส่วนตน นายจ้างสั่งพักงานลูกจ้าง (โจทก์) ระหว่างสอบสวน เมื่อสอบสวนเสร็จ นายจ้างมีคำสั่งไล่ลูกจ้างออกจากงาน ลูกจ้างอุทธรณ์คำสั่ง เรื่องนายจ้างเปลี่ยนแปลงคำสั่งให้ลูกจ้างออกจากการเป็นพนักงาน และงดจ่ายเงินพึงได้ใดๆ ทั้งสิ้น
ลูกจ้างเห็นว่านายจ้างมีการเปลี่ยนแปลงบทลงโทษ ส่งผลให้ลูกจ้างได้รับความเสียหาย ด้านนายจ้างให้การว่า ลูกจ้าง (โจทก์) กระทำผิดฐานกู้ยืมเงินเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ เป็นการทุจริตแสวงหาประโยชน์ส่วนตน ศาลแรงงานพิพากษายกฟ้อง โจทก์ยื่นอุทธรณ์ ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อพนักงานกระทำผิด อำนาจในการพิจารณาโทษทางวินัยย่อมเป็นของนายจ้าง ศาลแรงงานจะเข้าไปตรวจสอบดุลพินิจของนายจ้างได้ก็ต่อเมื่อนายจ้างใช้ดุลพินิจในการลงโทษไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่สุจริต กลั่นแกล้ง หรือไม่สมเหตุสมผล และแม้พนักงานจะถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดในลักษณะเดียวกัน แต่ถ้าพฤติการณ์ในการกระทำผิดของพนักงานแต่ละรายมีระดับความร้ายแรงต่างกันนายจ้างก็ย่อมใช้ดุลพินิจในการลงโทษพนักงานแต่ละรายแตกต่างกันได้ หากไม่ขัดต่อระเบียบข้อบังคับของนายจ้าง
ที่มา กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน