เช็คลิสต์ Work From Home (WFH) ของคุณพังหรือไม่?

การทำงานจากที่บ้าน หรือ Work From Home (WFH) กลายเป็นแนวทางการทำงานที่เข้ามามีความสำคัญกับคนไทย มากกว่าแค่เทรนด์ เพราะ Work From Home เป็นนโยบายที่ช่วยเพิ่มระยะห่างทางสังคม และลดการความใกล้ชิดทางกายภาพของประชาชน เพื่อลดการแพร่ระบาดของ “โควิด-19” ทว่าตั้งแต่เริ่มต้น Work From Home กันอย่างจริงจัง หลายคนก็ประสบปัญหาใหญ่คือ Work From Home ไม่ได้ชิลอย่างที่คิด! ยิ่งไปกว่านั้น หลายคนกลับรู้สึกว่า การทำงานจากที่บ้านทรมานกว่าการทำงานในออฟฟิศ หรือออกไปทำงานนอกสถานที่ตามปกติเสียอีก ไม่แปลก ถ้าคุณเป็นหนึ่งในคนที่รู้สึกแบบนี้ เพราะมีคนอีกมหาศาลประสบปัญหาเหล่านี้ เรามาเช็คกันว่า การทำงานแบบ Work From Home  คุณเป็นอย่างนี้หรือไม่

 

1.เครียดมากขึ้น 

“มนุษย์เป็นสัตว์สังคม” จำเป็นต้องมีการปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์คนอื่นๆ อยู่เสมอ เมื่อ “โควิด-19” ทำให้มนุษย์ก็หลีกเลี่ยงกิจกรรมทางสังคม หลายคนจึงต้อง “เผชิญความเครียด” ที่มากขึ้นหลังจากที่ต้องงานทำจากที่บ้านตามลำพัง ความเครียดที่เพิ่มขึ้นมากจากหลายสาเหตุ ตั้งแต่เจ้านายสั่งงานไม่หยุด ไม่มีช่วงเวลาการพักผ่อนที่ชัดเจนเหมือนไปทำงานในที่ทำงาน ขาดการปฏิสัมพันธ์พูดคุยปรึกษากับเพื่อนร่วมงาน จนทำให้ต้องแก้ปัญหาเพียงลำพัง (แม้บางทีเราอาจจะแค่คิดไปเอง) ทำให้บางครั้งยิ่งรู้สึกเครียดมากกว่าการไปเจอหน้าเจ้านายตัวเป็นๆ เสียอีก สิ่งที่อธิบายเกี่ยวกับปัญหานี้ได้ดีมากที่สุดคือ ไม่ว่าสาเหตุของความเครียดที่เพิ่มมากขึ้นขณะ WFH จะมีต้นตอมาจากเรื่องอะไร แต่สิ่งที่ต้องรีบทำทันทีที่รู้ตัวว่ากำลังเผชิญกับความเครียดมากเกินไปแล้ว คือการหาเวลาผละตัวออกจากงานในจังหวะที่สามารถทำได้ เพื่อคลายความเครียดของตัวเองลง หรือรีเซ็ตสมองให้โปร่งก่อนกลับมาทำงานต่อ เพื่อประสิทธิภาพงานที่เพิ่มขึ้นและสุขภาพจิตที่ดี กล่าวได้ว่า การทำงานจากที่บ้าน จำเป็นต้องมีการแบ่งเวลาพักที่ชัดเจนเช่นเดียวกับการทำงานที่ออฟฟิศ เพื่อช่วยให้จัดการงานและจัดการอารมณ์ได้ง่ายขึ้นนั่นเอง

 

2.ทำงานอยู่ตลอดเวลา แยก "เวลาทำงาน" กับ "เวลาส่วนตัว" ไม่ได้  

WFH สัปดาห์แรกไม่เป็นไร สัปดาห์ต่อไปเหนื่อยแทบทนไม่ไหว! คนที่ WFH หลายคนต้องเผชิญกับสภาวะ “งานหนักขึ้น 2 เท่า” จนอยากจะขอกลับไปทำงานที่ออฟฟิศเหมือนเดิม สาเหตุที่รู้สึกว่างานหนักขึ้นมีหลายรูปแบบ ทั้งที่หนักขึ้นมากจริงๆ ด้วยเนื้องานที่ยากและสถานที่คุ้นเคย หนักขึ้นมากจากการจัดการเวลาไม่ลงตัวเสียเอง หรือหนักขึ้นเพราะหัวหน้างาน หรือทีมทำงานไม่เป็นระบบจนต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาจนเหมือนไม่ได้พักผ่อน ฯลฯ คนที่ประสบปัญหาที่ยกตัวอย่างมาในข้างต้น และต้องการออกจากวังวนความเหน็ดเหนื่อยไม่รู้จบแบบนี้ คงต้องเริ่มจากการประเมินว่าสาเหตุที่ทำให้รู้สึกเหมือนทำงานอยู่ตลอดเวลาเกิดจากสาเหตุอะไรกันแน่ ถ้าเกิดขึ้นเพราะเราจัดการเวลาอย่างหละหลวมก็ต้องวางแผนการ WFH กันเสียใหม่ แต่ถ้าสาเหตุมาจากการทำงานไม่เป็นระบบของทีมงาน อาจต้องมีการสื่อสารถึงปัญหานี้ให้เข้าใจกันเองในทีม เพื่อหาทางออกในการวางแผนการทำงานให้ชัดเจนขึ้นสร้างบาลานซ์ชีวิตและงานให้ลงตัว ก่อนที่จะพังไปทั้งคู่

 

3.มีสิ่งรบกวน ไม่มีสมาธิทำงาน 

"สิ่งรบกวน" คือเรื่องที่ยากจะปฏิเสธสำหรับการทำงานจากที่บ้าน เพราะบ้านคือแหล่งรวมความบันเทิงและการพักผ่อน แต่เมื่อถึงเวลาต้องทำงานจริงจัง แล้วความบันเทิงจากบ้านแทรกซึมเข้ามาระหว่างทำงานล่ะก็ สิ่งที่จะจากเราไปคือ “สมาธิ” หรือ "การจดจ่อกับงาน" ถ้าตลอดการทำงานจากที่บ้านของเรา มีสิ่งรบกวนตลอดเวลาจนไม่มีสมาธิทำงานให้ได้อย่างราบรื่น นี่เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่บ่งชี้ว่า WFH ของเรากำลังพัง และต้องเร่งหาทางออก โดยสิ่งที่จำเป็นต้องจัดการให้ลงตัวตั้งแต่เริ่มทำงาน คือการ ‘แบ่งพื้นที่การทำงานภายในบ้านที่ชัดเจน’ กำหนดกติกาหลวมๆ กับคนในบ้าน เพื่อสร้างขอบเขตการทำงานที่ชัดเจน และลดการรบกวนจากสมาชิกในครอบครัว รวมไปถึงสัตว์เลี้ยงแสนรักที่มักเข้ามาหาระหว่างทำงาน ซึ่งจะช่วยให้สามารถทำงานเสร็จเร็ว และมีเวลาให้ครอบครัวมากขึ้นนั่นเอง

 

4.สื่อสารผิดพลาดบ่อยๆ

หากคุณสื่อสารเรื่องงานกับทีมงาน ผ่านช่องทางออนไลน์ผิดพลาดบ่อยๆ นั่นกำลังบอกว่า WFH ของคุณเริ่มมีปัญหา เพราะการสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์ หรือประชุมในระยะไกล มีเงื่อนไขของสัญญาณอิเทอร์เน็ต ห้วงเวลารอคอยการตอบกลับ ทำให้การสื่อสารอาจมีประสิทธิภาพไม่เหมือนการพูดคุยแบบตัวต่อตัว อย่างไรก็ดี ปัญหานี้จะต้องเริ่มแก้จากการให้ความสำคัญกับการ “สื่อสาร” ซึ่งกันและกันให้มากเป็นพิเศษในระหว่างที่ยัง WFH ไม่ว่าจะเป็นการโทร วิดีโอคอล ประชุม หรือแชท เพื่อให้สามารถพูดคุยก็ได้ตลอดการทำงาน หรือปรึกษากันเพื่อแก้ปัญหาต่างได้ทันท่วงที ซึ่งจะช่วยลดความผิดพลาดในการสื่อสารรวมถึงลดโอกาสผิดพลาดของงานได้

 

5.ทำงานเสร็จช้ากว่าปกติ 

การ WFH ช่วงแรกๆ หลายคนอาจไม่เคยประสบปัญหานี้ แต่พอทำงานจากที่บ้านนานๆ เข้า ก็พบว่าถูกบรรยากาศความสบายที่บ้านครอบงำ เริ่มแอบพักถี่ขึ้น เปิดไปเปิดตู้เย็นบ่อยๆ หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเล่นเกม หรือหอบคอมพิวเตอร์ไปทำบนเตียงนอนแบบทำงานไปด้วยพักผ่อนไปด้วย ตัวอย่างที่ยกมาไม่ใช่เรื่องผิดสำหรับการทำงานจากที่บ้าน แต่ความสบายเหล่านี้จะทำให้งานของคุณเสร็จช้า บางครั้งอาจถึงขั้นงานเสร็จไม่ทันเวลา และกลายเป็นความเครียดสะสมในสเต็ปถัดไป ถ้าคุณเป็นหนึ่งในคนที่ประสบปัญหานี้อยู่ ยังไม่สายที่จะเปลี่ยนพฤติกรรม ปัญหางานเสร็จช้าจะหมดไปทันที เมื่อคุณสร้างกรอบเวลาในการทำงานที่ชัดเจน แล้วเปลี่ยนการเปิดตู้เย็น กินขนม เอนหลัง ฯลฯ ให้กลายเป็นรางวัลหลังทำงานเสร็จแทนการพักไปทำงานไป

 

6.ไร้แรงบันดาลใจ 

อีกหนึ่งปัญหาของการทำงานจากที่บ้าน ที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เมื่อนานวันเข้า คือ “ไม่มีแรงบันดาลใจในการทำงาน” ในความเป็นจริงแล้วความรู้สึกนี้เกิดได้ทุกที่ ไม่ใช่เฉพาะการทำงานที่บ้าน แต่ในกรณีของการ WFH แบบจำเป็นในสถานการณ์ “โควิด-19” ระบาด ทำให้ไม่สามารถออกไปเปลี่ยนบรรยากาศไปนั่งทำงานในสถานที่อื่นๆ อย่าง co-working space ร้านคาเฟ่ต่างๆ หรือไปเสพบรรยากาศจากการเดินทางเพื่อสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ โดยเฉพาะคนที่ทำงานสายครีเอทีฟ ที่ต้องใช้แรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการสร้างงาน อย่างไรก็ดี การ WFH ยุคปัจจุบันยังมีอินเทอร์เน็ต และโซเชียลมีเดียให้สามารถท่องโลกกว้างได้แค่คลิกนิ้ว แม้จะไม่เหมือนการเดินทางประสบการณ์ตรง 100% แต่การค้นคว้าหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ เรียนคอร์สออนไลน์ฟรี ดูหนัง ฟังเพลง เปิดทัศนะในเวลาพักก็เป็นทางเลือกที่ช่วยเติมไฟ เติมไอเดียในการทำงานได้ไม่น้อย

 

7.มีโรคเพิ่มขึ้น 

ทำงานที่ออฟฟิศ ก็มีออฟฟิศซินโดรมเป็นของแถมอยู่แล้ว พอมา WFH นึกว่าจะสบาย กลับมีโรคอื่นๆ ตามมาแบบไม่คาดคิด เมื่อไม่สามารถบริหารจัดการเวลาได้ไม่เพียงพอ จะเริ่มเข้าสู่โหมดนอนไม่เป็นเวลา นอนดึกเกินไป กินข้าวไม่ตรงเวลาจนเป็นโรคกระเพาะ กรดไหลย้อน เหงาจนเสี่ยงซึมเศร้า ปวดเมื่อย หรือมีอาการที่บ่งชี้ถึงการเป็นโรคอื่นๆ ตามมา นี่คือสัญญาณว่า WFH ของคุณพังเข้าแล้ว และสิ่งที่จะพังตามไปติดๆ คือสุขภาพของคุณเอง 

 

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ