ลากิจเพราะติดธุระ แล้วนายไม่อนุมัติการลาหรือไม่สามารถอนุมัติได้ ผลจะเป็นอย่างไร
กฎหมายกำหนดว่านายจ้างต้องจัดวันลาให้ลูกจ้างไม่น้อยกว่า 3วันต่อปี (แต่บริษัทไหนจะกำหนดมากกว่านั้นก็ไม่ผิดกฎหมายแต่ให้ขาดไม่ได้)
ประเด็นคือ บางบริษัทไม่ได้กำหนดนิยามว่าเหตุอะไรบ้างคือลากิจ แล้วกำหนดเพียงว่าถ้าอยากจะลาต้องส่งให้นายจ้างพิจารณาก่อนและต้องให้อนุมัติจึงถือเป็นการลากิจที่ถูกต้อง ดังนั้น จึงเป็นปัญหาในทางปฏิบัติว่า ถ้าลูกจ้างมองว่า ก็ที่จะลาไปเนี่ยเป็นกิจธุระส่วนตัวจริงๆ แต่ผู้ว่าจ้างบอกไม่ใช่กิจธุระสักหน่อยคนอื่นก็ทำแทนได้ เลยไม่อนุมัติให้ลา หรือในกรณีที่กิจธุระมันด่วนและจำเป็น จึงยื่นลาเสร็จแล้วไปเลย
กรณีแบบนี้ทางกฎหมายมีหลักเกณฑ์พิจารณา ดังนี้
1. พิจารณาว่า ลูกจ้างได้ยื่นลาตามระเบียบแล้วหรือไม่ (หมายถึงต้องยื่นก่อน อนุมัติหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง)
2.แจ้งเหตุแห่งความจำเป็นที่ต้องหยุดงานคืออะไร มีเอกสารหลักฐานส่งแนบมาด้วยหรือไม่
3.แจ้งเหตุจำเป็นที่ไม่รออนุมัติได้บอกไหม
ซึ่งถ้าทำครบถ้วนแล้ว การที่นายจ้างออกใบเตือนและเลิกจ้างจึงไม่ชอบ (อ้างอิงพิพากษาฎีกาที่ 613/2529)
แต่ตรงกันข้าม ถ้าลูกจ้างไม่แม้แต่จะปฏิบัติตามระเบียบ เช่น นึกขึ้นได้ว่ามีกิจจำเป็น ก็ขาดงานเลย แบบนี้แม้ลาไปทำกิจธุระจริงๆ ก็ถือว่าหยุดโดยไม่มีหตุผลสมควรและมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามข้อบังคับเกี่ยวบการทำงานของนายจ้าง ถือได้ว่าเป็นการละทิ้งการงาน ( คำพิพากษาฎีกาที่ 177/2528)
จากสองกรณีที่ยกไปจะเห็นได้ว่า แม้กฎหมายแรงงานจะคุ้มครองลูกจ้าง แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเกเร และมีอิสระเสรีได้โดยไม่ต้องสนใจข้อบังคับ ระเบียบ กติกาใดๆ ดังนั้น หากใครมีความจำเป็นในการลากิจ ก็ทำครบถ้วนกระบวนความ ให้ชี้แจงความจำเป็นก่อน จะได้ไม่มีประเด็นโต้แย้งตามมาภายหลัง
ที่มา คลีนิกกฎหมายแรงงาน