4 เรื่องที่ SMEs ต้องระวังก่อนโดนภาษีย้อนหลัง!!

การตัดสินใจที่จะลงมือทำธุรกิจอะไรสักอย่าง แน่นอนว่าส่วนใหญ่จะเริ่มจากสิ่งที่ตัวเองถนัด แต่สำหรับผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ ธุรกิจขายสินค้าออนไลน์มักจะเป็นตัวเลือกอันดับต้น เนื่องด้วยปัจจัยของจำนวนคนที่น้อย ขั้นตอนที่ไม่สลับซับซ้อน เงินลงทุนไม่มาก ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตเองหรือเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าก็ตาม ในขณะที่กำลังเพลิดเพลินกับยอดสั่งซื้อที่เข้ามา จนทำให้ลืมนึกไปว่ายังมีกระบวนการบางอย่างที่ไม่ถูกต้องซ่อนอยู่ อย่างเรื่องของภาษีที่ผู้ประกอบการบางคนไม่มีความรู้จึงไม่ได้ตระหนักในตอนแรก ตั้งแต่นี้ต่อไปประเด็นนี้จะถูกหยิบมาพิจารณาเพื่อตรวจสอบที่มาของรายได้และผลตอบแทน แน่นอนว่าการเรียกเก็บภาษีย้อนหลังทำให้หลายคนเกิดความวิตก มีเรื่องอะไรบ้างที่ต้องระวัง

1.ตรวจจริง จับจริง ปรับจริง สรรพากรจัดหนัก !

ไม่ว่าที่ผ่านมายอดขายจะทะลุเป้ามากแค่ไหน แต่หลังจากนี้เป็นต้นไปถึงเวลาแล้วที่ผู้ประกอบการต้องรับรู้โดยทั่วกันว่าทางกรมสรรพากรเอาจริง เพราะมีการตรวจสอบที่เข้มงวดมากขึ้น คำถามที่ตามมาคือ แล้วที่ผ่านมาไม่เอาจริงหรือ ก่อนอื่นอยากให้ย้อนดูว่าช่วงหลายปีที่ผ่านมามีผู้คนจำนวนมากที่นิยมสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ทำให้มีผู้ประกอบการหน้าใหม่กระโดดเข้าสู่เส้นทางนี้มากขึ้น กลายเป็นกระแสทางธุรกิจที่มาแรง จนสามารถเปลี่ยนชีวิตใครหลายคนให้ดีขึ้น รวยได้อย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี เรียกได้ว่าเป็นการพลิกชีวิตครั้งยิ่งใหญ่  ซึ่งที่ผ่านมาทางกรมสรรพากรยังไม่ได้มีการตรวจสอบจริงจัง ประกอบกับอัตราส่วนระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ที่ขายของออนไลน์ต่างกันเยอะ แต่ตอนนี้ได้มีการวางระบบโดยจัดตั้งทีมเพื่อทำการล่อซื้อ สามารถค้นหาตัวบุคคลเพื่อตรวจสอบว่ามีการยื่นรายได้และเสียภาษีต่อสรรพากรหรือไม่ ใครที่ขายดี มีการยิงโฆษณาบน Facebook บ่อย มียอดผู้ติดตามเยอะก็จะทำการค้นหาได้ง่ายหน่อย ส่วนคนอื่นๆก็ใช่ว่าจะตามไม่เจอ เพราะรอบนี้สรรพากรคงไม่ปล่อยให้หลุดไปได้ง่ายแน่นอน

2.เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย สรรพากรจัดให้ !!

เป็นเรื่องที่ทราบกันดีว่าบทลงโทษทางภาษีมีระบุไว้อย่างชัดเจนอยู่แล้ว สิ่งที่น่ากังวลในเรื่องของภาษีที่ถือว่าทำเอาผู้ประกอบการเจ็บหนักและเจอบ่อยเมื่อโดนเรียกเก็บย้อนหลังคือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพราะตามกฎหมายภาษีจะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อมีรายได้เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ถ้าไม่ปฏิบัติตามนี้ หากกรมสรรพากรเรียกตรวจ VAT 7 %  ที่ไม่ได้จัดเก็บจากลูกค้าทั้งหมด เราเองจะต้องเป็นคนรับผิดชอบจ่ายให้กับสรรพากรเองทั้งหมด ซึ่งความน่ากลัวอยู่ตรงที่สามารถทลายเงินเก็บที่มีอยู่ได้ แถมยังโดนค่าเบี้ยปรับ และค่าเงินเพิ่มสมทบเข้าไปอีก ถ้าเมื่อไหร่ที่กิจการถูกจับได้ว่าที่ผ่านมาไม่เคยมีการเสียภาษีเลย คำถามที่ว่าต้องเสียเท่าไหร่ จะดูจากรายได้ย้อนหลังนั่นเอง

3.ตั้งหลักให้ดี เริ่มต้นใหม่ให้ถูกต้อง วางแผนภาษีผิดคิดจนธุรกิจล่ม !!!

ถ้าไม่อยากทำกิจการโดยที่มีความรู้สึกกังวลอยู่ตลอดเวลา อยากทำให้ทุกอย่างถูกต้อง อันดับแรกคือต้องทำใจยอมรับในการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยเจอมาก่อน การจัดทำเอกสารทางบัญชีที่เพิ่มขึ้น หากกิจการมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ต่อมาคือราคาที่ขายอยู่นั้นรวม VAT แล้วหรือไม่ เพราะจะมีส่วนของ 7% ที่ต้องส่งให้สรรพากร ที่เหลืออีก 93% เป็นของธุรกิจ จากราคาขายเดิมที่เคยตั้งไว้ลองถามตัวเองให้ได้ว่าเมื่อตัดสินใจเข้าสู่ระบบราคานี้สามารถอยู่ได้หรือไม่ ถ้าอยู่ไม่ได้แล้วมีความจำเป็นที่จะต้องปรับราคาขายขึ้น จะส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้าหรือไม่อย่างไร เพราะหากไม่มีการวางแผนเรื่องโครงสร้างราคาตั้งแต่แรกอาจเกิดผลกระทบต่อยอดขายของธุรกิจได้ โดยเฉพาะการขายที่มีการแข่งขันในเรื่องของราคา  และทุกๆเดือนต้องมีการนำจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มให้กรมสรรพากร

4.ทำให้ถูกตั้งแต่ตอนนี้ เพราะเรื่องภาษีไม่ได้ยุ่งยากเกินกว่าการทำธุรกิจ !!!

ถามตัวเองก่อนว่าจะทำธุรกิจในรูปแบบไหนระหว่างบุคคลหรือนิติบุคคล ถ้าอยากทำธุรกิจในรูปแบบบุคคล นั่นแปลว่ารายได้จะเข้าสู่บุคคล มีการเสียภาษีเงินได้ส่วนบุคคล ต้องดูว่ามีค่าลดหย่อนเยอะหรือไม่ จากเดิมที่การคำนวณภาษีในส่วนของรายได้สามารถนำมาหักค่าใช้จ่ายได้ถึง 80% แต่หลังจากปี พ.ศ. 2560 เป็นต้นไปหักสูงสุดได้แค่ 60% ถ้ามีค่าลดหย่อนภาษีน้อยไม่แนะนำให้จดทะเบียนธุรกิจในรูปแบบนี้ หรือกิจการมีรายได้ถึงหลักล้านก็ไม่ควรเช่นกัน ในส่วนของรูปแบบธุรกิจนิติบุคคลประกอบไปด้วยบริษัทกับห้างหุ้นส่วน ควรที่จะต้องมีความรู้ทางด้านบัญชีบ้าง ซึ่งสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้ไม่ยาก ธุรกิจรูปแบบนี้จะเสียภาษีน้อยกว่าและได้รับสิทธิประโยชน์ที่มากกว่า เช่น ผู้ประกอบการ SMEs จะได้รับยกเว้นภาษีจากกำไรสุทธิ 3 แสนบาทแรก

 

แม้ที่ผ่านมาการประกอบธุรกิจยังไม่มีการเข้าสู่ระบบที่ถูกต้อง แต่เมื่อภาครัฐมีความเข้มงวดเพิ่มขึ้น ในฐานะผู้ประกอบการเองก็ควรที่จะจัดการให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย อย่าคิดว่าทำธุรกิจทางออนไลน์แล้วจะไม่สามารถตรวจสอบได้ หรือใครที่มีหน้าร้านแม้ขนาดของธุรกิจจะไม่ใหญ่ ก็อย่าเพิ่งชะล่าใจไป เพราะง่ายต่อการตรวจสอบเช่นกัน คงไม่ใช่เรื่องดีสักเท่าไหร่ หากต้องมาคอยระแวงในการทำธุรกิจ นอกจากจะเสียสุขภาพจิตแล้ว ยังต้องมาเจอกับค่าปรับย้อนหลังที่มหาโหดอีกด้วย ดังนั้นการทำธุรกิจจึงไม่ควรต้องหลบซ่อนอีกต่อไป นอกจากตัดปัญหาความกังวลในส่วนของการจ่ายภาษีแล้วยังเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือที่ส่งผลต่อความมั่นคงของธุรกิจได้เช่นกัน

ที่มา taokaemai.com