เทคนิคมะเขือเทศ ใช้เวลาทำงานอย่างชาญฉลาด

“เวลาเป็นของมีค่า” “เวลาเป็นเงินเป็นทอง” “เวลาและวารีไม่เคยคอยใคร” หรือ “เวลาไม่อาจย้อนกลับ” ทั้งหมดนี้ล้วนมีเป้าหมายเดียวกัน คือ จะบอกว่า “เวลาเป็นสิ่งที่มีค่ายิ่ง ที่ไม่ควรปล่อยให้ผ่านไปอย่างไร้ประโยชน์”

     Pomodoro Technique เป็นภาษาอิตาลี แปลว่ามะเขือเทศ เทคนิคนี้คิดค้นขึ้นโดยฟรานเชสโก ซิริลโล (Francesco Cirillo) ในทศวรรษที่ 1980s โดยมีที่มาจากนาฬิกาจับเวลารูปมะเขือเทศ เทคนิคการบริหารจัดการเวลาให้ได้ประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับมนุษย์ออฟฟิศ เพราะจะช่วยให้เราทำงานออกมาได้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น

     หลักการทำงานของเทคนิคมะเขือเทศ คือ ให้เราจดจ่ออยู่กับงานที่ทำ มีสมาธิกับมันแบบไม่ว่อกแว่กเป็นเวลา 25 นาที เมื่อครบแล้ว ถึงจะหยุดพักได้ 5 นาที ซึ่งเวลาสั้น ๆ 5 นาทีนี้ ก็ช่วยให้สมองไม่ล้ามากจนเกินไป ในช่วงที่เราต้องจดจ่อกับอะไรนาน ๆ จึงพร้อมที่จะกลับมาโฟกัสกับงานได้เรื่อย ๆ ตลอดวัน ให้สามารถทำงานได้ทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยไม่เสียพลังงานมากจนเกินไป

 

“ช่วงเวลาทำงาน (25 นาที) + ช่วงเวลาพักเบรก (5 นาที) = 1 Pomodoro” 

 

ข้อดีของเทคนิคมะเขือเทศ

ปกติแล้วเรามักจะนั่งทำงานต่อเนื่องยาว ๆ ทั้งวัน จะลุกหรือได้พัก ก็แค่ช่วงพักกลางวัน หรือช่วงที่เดินไปเข้าห้องน้ำเท่านั้น แต่เมื่อเรา

  • แบ่งเวลาการทำงานออกเป็นช่วงย่อย ๆ 25 นาที แล้วพัก 1 ครั้ง ซึ่งจะช่วยให้สมองได้พักจากงานตรงหน้าบ้าง จะรู้สึกกระปรี้กระเปร่า สดชื่นขึ้น
  • ช่วยให้แบ่งงานเร่งด่วนกับไม่เร่งด่วนออกจากกันได้ง่ายขึ้น เพราะก่อนเริ่มทำงาน ต้องแบ่งงานเป็นชิ้นย่อย ๆ ก่อน 
  • สำหรับคนที่สมาธิสั้น การแบ่งงาน 25 นาที ทำให้โฟกัสงานได้ง่ายขึ้นมาก
  • ลดความเสี่ยงในการเป็นออฟฟิศซินโดรมจากการนั่งติดหน้าจอนาน เพราะแค่ 5 นาที ก็สามารถลุกขึ้นมายืดเส้นยืดสายได้ และได้พักบ่อยตลอดวัน
  • ทำงานเสร็จเร็วขึ้น เพราะมีสมาธิทำงาน
  • มีกำลังใจในการทำงาน เพราะตั้งใจทำงานเพียง 25 นาทีก็จะได้รางวัล คือ การพัก
  • ป้องกันการ Burnout ของสมอง
  • เพิ่มสมาธิให้โฟกัสเฉพาะงานที่ทำ ซึ่งจะทำให้ทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • ลดข้อผิดพลาดในการทำงาน เพราะมีสมาธิอยู่ตลอด 25 นาที
  • ลดความซับซ้อนและซ้ำซ้อนของงาน เพราะได้วางแผนไว้แล้วว่า 25 นาทีนี้จะทำอะไร

 

ข้อเสียของเทคนิคมะเขือเทศ

เหรียญมี 2 ด้าน มีข้อดีก็ย่อมมีข้อเสีย

  • เวลาเพียง 25 นาทีนั้นอาจจะสั้นเกินไป ทำให้บางคนรู้สึกกดดันกับการทำงานในเวลาที่จำกัด โดยเฉพาะคนที่เพิ่งเริ่มทำใหม่ ๆ จะไม่ชินกับการทำงานที่ถูกบีบด้วยเวลา
  • การหยุดพักทุก ๆ 25 นาที จะทำให้ขาดความต่อเนื่องในการทำงาน กับคนที่ทำงานในลักษณะติดลมบน
  • ไม่เหมาะกับงานในลักษณะที่ต้องติดต่อประสานงานกับคนอื่นบ่อย ๆ เพราะจะเสียเวลาในการสื่อสาร

ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องยึดเวลาเท่านี้เสมอ สามารถจัดการให้ยืดหยุ่นได้ โดยเฉพาะผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นใช้เทคนิคนี้ แต่ถ้าหากทำได้จนเคยชินเป็นนิสัย ก็จะทำได้ง่ายขึ้น และจะปรับเวลาให้เคร่งครัดขึ้นด้วยก็ได้

 

วิธีการวางแผนใช้เทคนิคมะเขือเทศ

  1. ลิสต์งานที่จะ (ต้อง) ทำในแต่ละช่วง
  2. ตั้งเวลานับถอยหลัง 25 นาที
  3. ในระหว่าง 25 นาทีนี้ ให้โฟกัสกับงานชิ้นนี้ชิ้นเดียวให้เสร็จ อย่าว่อกแว่กเด็ดขาด อะไรที่แทรกเข้ามาจดใส่กระดาษไว้ แล้วเก็บไว้จัดการในช่วงพัก
  4. พอครบ 25 นาที ให้พักเบรก 5 นาที
  5. ทำเช่นนี้จนครบ 4 รอบ แล้วเบรกยาว 15-20 นาที

 

ที่มา tonkit360