ไขสงสัย นายจ้างจัดวันหยุดให้ แต่ลูกจ้างไม่ใช้สิทธิ ต้องจ่ายเป็นเงินหรือไม่

          นายจ้างมีหน้าที่ตามกฎหมายต้องจัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดพักผ่อนประจำปีไม่น้อยกว่าปีละ 6 วันทำงาน ปัญหาในทางปฏิบัติมักเกิดข้อโต้เถียงกันว่า หากลูกจ้างไม่ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีแล้ว นายจ้างจะต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างหรือไม่

แยกพิจารณาได้เป็น 3 กรณี

  • กรณีแรก หากนายจ้างเป็นผู้กำหนด หากไม่กำหนดให้ลูกจ้างหยุดพักผ่อนประจำปีเลยหรือกำหนดให้หยุดน้อยกว่า 6 วันทำงาน นายจ้างต้องรับผิดจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี
  • กรณีที่สอง นายจ้างและลูกจ้างตกลงร่วมกัน โดยลูกจ้างที่มีความประสงค์จะหยุดให้ยื่นคำขอในรูปใบลาหยุดพักผ่อนประจำปี เมื่อนายจ้างอนุมัติการหยุดแล้ว ลูกจ้างจึงสามารถหยุดพักผ่อนประจำปีได้ ในกรณีนี้หากลูกจ้างใช้สิทธิขอหยุดตลอดมา แต่นายจ้างเป็นฝ่ายไม่อนุมัติหรืออนุมัติให้หยุดปีหนึ่งน้อยกว่า 6 วันทำงาน นายจ้างต้องรับผิดจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี
  • กรณีที่สาม เป็นกรณีแบบเดียวกับกรณีที่สอง คือหยุดตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน แต่ลูกจ้างเป็นฝ่ายไม่ยื่นคำขอหยุดพักผ่อนปีระจำปีเลย หรือขอหยุดไม่ครบ 6 วันทำงาน ลูกจ้างยื่นคำขอเท่าใด นายจ้างอนุมัติให้หยุดทั้งหมด ในกรณีนี้ นักกฎหมายบางท่านเห็นว่า นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี เพราะลูกจ้างเป็นฝ่ายสละสิทธิไม่ขอหยุดเอง แต่นักกฎหมายอีกฝ่ายยังเห็นว่า นายจ้างจะต้องกำหนดให้ลูกจ้างหยุดให้ครบ 6 วันเสียก่อน หากลูกจ้างยังไม่ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีอีก ครั้งหลังนี้จึงจะไม่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ซึ่งต้องรอแนวคำพิพากษาของศาลฎีกาต่อไป

 

ที่มา ธรรมนิติ