โรคซึมเศร้า เป็นความเจ็บป่วยทางอารมณ์ที่มีอาการหลักคืออารมณ์เศร้า หดหู่ รู้สึกท้อแท้ บางรายจะรู้สึกไม่อยากทำอะไร ไม่อยากไปเรียนหรือไปทำงาน พูดคุยกับคนอื่นน้อยลง รู้สึกตนเองไม่มีค่า บางรายจะมีอาการทางกายร่วมด้วย เช่น นอนไม่หลับ สมาธิไม่ดี ความรู้สึกทางเพศลดลง อารมณ์เศร้าดังกล่าวส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิต ส่งผลกระทบต่อการทำกิจกรรมประจำวันและความรู้สึกต่อตนเอง
หากลูกจ้างมีอาการป่วยถึงขั้นส่งผลกระทบต่อการทำงานอย่างร้อยแรงนั้น นายจ้างก็สามารถเลิกจ้างได้ เพราะอาการป่วยซึมเศร้านั้น ผู้ป่วยจะมีอารมณ์ ความคิดเปลี่ยนแปลง ขาดสมาธิความจำแย่ลง ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างเปลี่ยนไป การทำงานแย่ลง ดังนั้น หากลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้ หรือทำได้แต่มีผลกระทบกับงาน เช่น งานผิดพลาดบ่อย ต้องแก้ไขงานบ่อยครั้ง งานไม่มีประสิทธิภาพ แบบนี้ถือเป็นการหย่อนสมรรถภาพที่นายจ้างสามารถเลิกจ้างได้ แต่ ทั้งนี้ นายจ้างก็ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย และจ่ายค่าชดเชย ตามพระราชบัญญํติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 118
การเลิกจ้างเพราะเหตุป่วย ที่ไม่สามารถทำงานได้ จะถือเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมหรือไม่นั้น ศาลจะพิจารณาถึงสาเหตุของการเลิกจ้าง ว่าสมควรที่เลิกจ้างหรือไม่ หากเลิกจ้างเพราะป่วยก็ต้องพิจารณาว่า ลูกจ้างลาป่วยบ่อยหรือไม่ ทำงานผิดพลาดหรือมีการเตือน มีการให้ปรับปรุงตัวแล้ว แต่ก็ยังทำผิดอีก หรือป่วยจนไม่สามารถทำการงานได้ ดังนี้ นายจ้างก็อาจจะเลิกจ้างได้โดยถือเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม (คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 48/2560)
แต่หากอาการป่วยของลูกจ้างยังไม่ถึงกับขนาดที่จะต้องเลิกจ้างกัน นายจ้างก็อาจเปลี่ยนงาน โดยไม่ลดค่าจ้าง เพื่อความเหมาะสมกับสภาพร่างกาย และจิตใจของลูกจ้าง จะเป็นการดี เพื่อมนุษยธรรม นึกถึงคุณงามความดีที่ลูกจ้างเคยทำงานให้กับนายจ้าง เเละเป็นขวัญกำลังใจแก่ลูกจ้าง
ที่มา คลินิกกฎหมายแรงงาน
26 December 2023
View
1,944