อ้างว่า ลูกจ้างจงใจทำให้ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง แล้วจะไม่จ่ายค่าจ้างได้หรือไม่

          แม้กรณีลูกจ้างจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง นายจ้างอาจนำมาเป็นเหตุที่จะเลิกจ้างลูกจ้างได้โดยไม่จ่ายค่าชดเชย และค่าบอกกล่าวล่วงหน้าได้ก็ตาม แต่จะนำมาเป็นเหตุที่จะไม่จ่ายค่าจ้างซึ่งถึงกำหนดการจ่ายให้ลูกจ้างแล้วไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายกำหนดไว้ ตามนัยฎีกาด้านล่างนี้

คำพิพากษาฎีกาที่ 1415/2559

          จำเลยค้างจ่ายค่าจ้างสำหรับการทำงานระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม ถึงวันที่ 19 กันยายน 2556 แก่โจทก์ รวมเป็นงิน 40,599 บาท จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายแก่โจทก์ จำเลยไม่อาจยกข้อต่อสู้ว่าโจทก์จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายเป็นความผิดร้ายแรงเพื่อจะไม่จ่ายค่าจ้างค้างจ่ายแก่โจทก์ได้ เนื่องจากไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดเหตุยกเวันที่จะทำให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าจ้างตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างให้แก่โจทก์ผู้เป็นลูกจ้าง

 

ที่มา สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน