หากพิจารณาตามมาตรา 5 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ ได้กำหนดไว้ว่า “ลูกจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร
ดังนั้นหากพิจารณาตามความหมายดังกล่าว สามารถสรุปได้ว่า
สิ่งที่สำคัญจะทำให้เป็นนายจ้างกับลูกจ้างกันคือ “ค่าจ้าง” นั่นเอง
กล่าวคือ หากการทำงานของนักศึกษาฝึกงานคนนั้นเป็นไปเพื่อให้ได้รับจ้างเพื่อเป็นการตอบแทนการทำงานให้แก่นายจ้าง สัญญาจ้างย่อมเกิดขึ้นตามกฎหมาย ทำให้นักศึกษาฝึกงานคนดังกล่าวอยู่ในฐานะลูกจ้าง
แต่ในทางกลับกัน หากนักศึกษาฝึกงานทำงานเพื่อหาประสบการณ์หรือฝึกงานเพื่อให้เป็นตามเงื่อนไขที่กำหนดในหลักสูตร โดยสาระสำคัญไม่ได้อยู่ที่การได้รับค่าจ้างเป็นการตอบแทนในการทำงาน
กล่าวคือ แม้ว่าไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่นักศึกษาฝึกงาน แต่นักศึกษาฝึกงานก็ยังอยากเข้าทำงานที่นั่นอยู่ดี ในกรณีนี้จึงทำให้นักศึกษาฝึกงานคนดังกล่าวไม่มีคุณสมบัติตามบทนิยามของคำว่า”ลูกจ้าง”ตามที่กฎหมายกำหนด พูดง่ายๆไม่ใช่ลูกจ้างตามกฎหมายนั่นเอง
สรุปได้ว่า นักศึกษาฝึกงานเป็นลูกจ้างหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาตามข้อตกลงที่นักศึกษาตกลงเข้าฝึกงานในตอนแรกว่า “เป็นการทำงานเพื่อให้ได้รับค่าจ้างหรือไม่นั่นเอง”
ที่มา คลินิกกฎหมายแรงงาน