กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สิ่งที่มนุษย์เงินเดือนต้องมี

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพคืออะไร

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ Provident Fund คือกองทุนที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้น โดยเงินของกองทุนมาจากเงินที่ลูกจ้างจ่าย ส่วนหนึ่งเรียกว่า “เงินสะสม“ และนายจ้างจ่ายเงินเข้าอีกส่วนหนึ่งเรียกว่า “เงินสมทบ” กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นลักษณะของสวัสดิการที่นายจ้างมีให้กับลูกจ้าง เพื่อเป็นหลักประกันทางการเงินให้แก่ลูกจ้างที่เป็นพนักงานบริษัทเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ โดยอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของรัฐผ่านกฎหมายที่เรียกว่า “พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ”

ความสำคัญของการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ นอกจากจะทำให้ลูกจ้างมีการออมอย่างต่อเนื่อง มีวินัย และมีเงินสมทบจากนายจ้างแล้ว ยังมีการนำเงินไปบริหารให้เกิดดอกผลงอกเงยโดยผู้บริหารมืออาชีพ และดอกผลที่เกิดขึ้นจะนำมาเฉลี่ยให้กับสมาชิกกองทุนทุกคน ตามสัดส่วนของเงินที่แต่ละคนมีอยู่ในกองทุนอีกด้วยค่ะ การที่ผู้ประกอบการมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะช่วยทำให้พนักงานมากความสามารถอยู่ทำงานด้วยนานขึ้น จนอาจถึงช่วงวัยเกษียณเลย เนื่องจากถือเป็นขวัญกำลังใจ และทำให้พนักงานรู้สึกมีความมั่นคงหากทำงานไปนาน ๆนั่นเอง

สิทธิประโยชน์ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

การออมเงินผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เปรียบเสมือนการลงทุนโดยสมัครใจรูปแบบหนึ่ง ที่จะผูกพันไปในระยะยาว โดยคุณแทบจะไม่รู้สึกตัวว่า ได้ออมเงินทีละเล็กทีละน้อยแบบนี้ในทุก ๆ เดือน ซึ่งปัจจุบันในองค์กรธุรกิจชั้นนำส่วนใหญ่จะมีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพขึ้นมา โดยลูกจ้างจะมีหน้าที่จ่าย “เงินสะสม” และนายจ้างจะเป็นผู้จ่าย “เงินสมทบ” เข้ากองทุนฯ ในจำนวนไม่น้อยกว่าที่ลูกจ้างจ่ายเงินสะสม แต่ไม่เกิน 15% ของเงินเดือน เงินสะสมนี้จะถูกบริหารโดยมืออาชีพผ่านบริษัทจัดการกองทุนหรือ บลจ. ที่ได้รับการคัดเลือกจากบริษัทที่คุณทำงานอยู่ ซึ่งจะมีการนำเงินกองทุนไปลงทุนในตราสารประเภทต่าง ๆ เพื่อสร้างผลตอบแทนให้กับกองทุนฯ นั้น ๆ โดยเงินที่คุณจ่ายสะสมเข้ากองทุนไปทุก ๆ ปี

จะได้รับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพคืนเมื่อไร

สมาชิกกองทุนมีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนเมื่อความเป็นสมาชิกสิ้นสุดลง โดยจะได้รับส่วนของเงินสะสมเต็มจำนวนทุกกรณี พร้อมทั้งผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากเงินสะสม สำหรับในส่วนของเงินสมทบและผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากเงินสมทบ สมาชิกจะได้รับตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อบังคับกองทุน ที่กำหนดขึ้นโดยหน่วงงานที่คุณทำงานอยู่ โดยปกติจะมีลำดับขั้นการได้รับเงินสมทบ ซึ่งแต่ละแห่งจะกำหนดเอาไว้ไม่เหมือนกัน ตัวอย่างเช่น

  • พนักงานจะได้เงินสมทบ 5% เมื่อทำงานครบ 1 ปี
  • พนักงานจะได้เงินสมทบ 10% เมื่อทำงานครบ 2 ปี
  • พนักงานจะได้เงินสมทบ 30% เมื่อทำงานครบ 5 ปี
  • พนักงานจะได้เงินสมทบ 50% เมื่อทำงานครบ 7 ปี
  • พนักงานจะได้เงินสมทบ 100% เมื่อทำงานครบ 10 ปี

กรณีที่มีการเปลี่ยนงาน

ในกรณีที่มีการเปลี่ยนงาน สมาชิกอาจขอคงเงินไว้ในกองทุนของนายจ้างเดิมเป็นการชั่วคราว เพื่อรอโอนเงินจากกองทุนเดิมไปออมต่อในกองทุนนายจ้างรายใหม่ ซึ่งเป็นการออมอย่างต่อเนื่องในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทั้งนี้ เพื่อสมาชิกจะได้มีเงินออมจำนวนที่มากพอเมื่อถึงวันเกษียณอายุ และมีชีวิตในวัยเกษียณอย่างมีคุณภาพ นอกจากนี้ การออมเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไว้จนเกษียณอายุ เงินที่รับออกจากกองทุนจะได้รับยกเว้นภาษีทั้งจำนวน

ลดหย่อนภาษีได้

ภาษีเป็นเรื่องใหญ่และหนักหนาสาหัสมากในการทำธุรกิจ ผู้ประกอบการหลายคนจึงหาหนทางและวิธีการเพื่อจะลดหย่อนภาษี ซึ่งการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสามารถให้คำตอบในส่วนนี้ได้ โดยบริษัทที่ทำการจดทะเบียนจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและจ่ายเงินสมทบให้กับพนักงานเป็นประจำ สามารถนำไปหักได้ตามค่าใช้จ่ายตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของค่าจ้างในแต่ละระยะเวลารอบบัญชีของบริษัท จึงสามารถลดทอนเรื่องค่าใช้จ่ายในส่วนของภาษีไปได้ส่วนหนึ่ง ในส่วนของพนักงาน สามารถนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในตอนปลายปีได้ สูงสุดไม่เกิน 15% ของค่าจ้าง หรือไม่เกินปีละ 300,000 บาท

อยากจะปิดบัญชีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทำได้หรือไม่

การปิดบัญชีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น สามารถทำได้ทุกเมื่อที่คุณต้องการ แต่โดยปกติจะปิดเมื่อต้องการลาออกจากงาน หรือพ้นสภาพการเป็นพนักงานแล้วนั่นเอง ซึ่งหากคุณคิดจะลาออกจากงาน เพื่อไปทำงานที่ใหม่หรือเปิดกิจการของตัวเอง และคุณอยากจะปิดบัญชีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คุณจำเป็นต้องมีการเตรียมตัววางแผนการเงินให้ดี เพราะเงินก้อนใหญ่จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ในส่วนของเงินสมทบนั้น จำเป็นต้องนำมาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย ในปีที่คุณลาออกจากงาน หรือปิดบัญชีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คุณอาจจะหาวิธีในการลดหย่อนภาษีเพื่อลดภาระภาษีที่คุณต้องจ่ายกรณีเงินได้ที่ได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

การเสียภาษีหลังจากปิดบัญชี

หากคุณกำลังจะลาออกจากงานไปทำธุรกิจส่วนตัว และคุณได้มีการสะสมเงินเข้ากองทุนฯ มาเป็นเวลาน้อยกว่า 5 ปี เงินส่วนแรกจะคือ “เงินที่คุณสะสมไว้” ในส่วนนี้ไม่ต้องนำไปคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษี ส่วน “เงินสมทบของนายจ้าง” และ “ผลประโยชน์ของเงินสะสม” จะต้องนำไปรวมเป็นรายได้เพื่อคำนวณภาษี

ในกรณีที่สองคือ หากคุณมีอายุงานเกิน 5 ปีขึ้นไป ไม่ต้องเสียภาษีในส่วนของเงินสะสมเช่นกัน ส่วน “เงินสมทบของนายจ้าง” และ “ผลประโยชน์ของเงินสะสม” สามารถนำไปหักค่าใช้จ่ายตามปีที่เราสะสมเงินไว้ได้ปีละ 7,000 บาท ส่วนเหลือเท่าไรนั้น ให้นำไปหักออกได้อีกครึ่งหนึ่ง แล้วถึงจะนำเงินที่เหลือไปรวมเป็นรายได้สุทธิที่ต้องคำนวณภาษีเงินได้

จากข้อมูลข้างต้นเราจะเห็นได้ว่า หากคุณอดทนรออีกสักนิด ให้อายุงานเกิน 5 ปี นอกจากจะได้เงินสะสมเพิ่มขึ้นแล้ว ยังเสียภาษีน้อยลงด้วย

 

ที่มา www.moneyguru.co.th