ก่อนจะบันทึกบัญชีค่าใช้จ่ายนั้น นักบัญชีต้องวิเคราะห์รายการและเอกสารประกอบก่อนที่เราจะทำการบันทึกบัญชีลงไป แต่เอกสารต่างๆที่รับได้รับมาจากแผนกต่างๆนั้น มีเอกสารหลายอย่างทั้ง ใบแจ้งหนี้ ใบอนุมัติซื้อ บิลเงินสด ใบเสร็จรับเงิน และเอกสารอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งบางครั้งเอกสารที่เราได้มานั้น ก็ไม่แน่ใจว่าจะสามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายได้หรือไม่ เราไปดูกันว่าหลักฐานการจ่ายเงินแบบไหน ที่เป็นรายจ่ายทางภาษีได้บ้าง
เอกสารประกอบการลงบัญชีที่สามารถเป็นรายจ่ายทางภาษีได้
1. เอกสารการรับเงิน เลือกใช้เอกสารอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วแต่กรณี ได้แก่
1.1 ใบรับเงิน กรณีที่ผู้รับยินยอมออกใบรับเงิน
ข้อมูลที่สำคัญ
- เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ออกใบรับ
- ชื่อหรือยี่ห้อของผู้ออกใบรับ
- เลขลำดับของเล่มและของใบรับ
- วันเดือนปีที่ออกใบรับ
- จำนวนเงินที่รับ
- ชนิด ชื่อ จำนวนและราคาสินค้า
1.2 ใบสำคัญรับเงิน กรณีที่ผู้รับไม่สามารถออกใบเสร็จรับเงินให้ได้ แต่ยินยอมที่จะลงลายมือชื่อในช่องผู้รับเงิน
ข้อมูลที่สำคัญ
- วันเดือนปีที่ออกใบสำคัญรับเงิน
- ชื่อผู้ขายสินค้า/ผู้ให้บริการ
- เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร ผู้ขายสินค้า/ผู้ให้บริการ
- ที่อยู่ ผู้ขายสินค้า/ผู้ให้บริการ
- ชื่อผู้ซื้อ/ผู้รับบริการ
- ชนิด ชื่อ จำนวนและราคาสินค้า
เอกสารแนบที่สำคัญ
เนื่องจากเอกสารนี้ใช้สำหรับรายจ่ายที่ไม่สามารถได้รับใบเสร็จรับเงินได้ และผู้ขาย/ผู้รับบริการยินดีให้ข้อมูลตามบัตรประชาชน โดยต้องแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนผู้รับเงิน (ซึ่งเป็นผู้ประกอบอาชีพขายสินค้า/ให้บริการ) ด้วย
1.3 ใบรับรองแทนใบเสร็จรับเงิน กรณีการจ่ายเงินค่าซื้อสินค้าหรือบริการเบ็ดเตล็ดแต่ไม่มีใบเสร็จรับเงิน ต้องให้พนักงานของกิจการเป็นผู้รับรองการจ่ายเงิน
ข้อมูลที่สำคัญ
- ชื่อผู้ซื้อ/ผู้รับบริการ
- ชนิด ชื่อ จำนวนและราคาสินค้า
- ชื่อ และตำแหน่ง ผู้เบิกจ่าย
- วันที่จ่ายเงิน
2. กรณีที่ไม่มีเอกสารตามข้อ 1.1 – 1.3 ให้จัดทำใบสำคัญจ่าย
รายละเอียดสำคัญที่ต้องระบุ
- ชื่อ ที่อยู่ เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร ผู้รับเงิน
- วันที่จ่ายเงิน
- ชนิด ชื่อ จำนวนและราคาสินค้า
- ลงลายมือชื่อผู้รับเงินไว้เป็นหลักฐาน
- ลงนามอนุมัติจ่ายเงินโดยผู้ที่มีอำนาจเท่านั้น
และแนบหลักฐานการจ่ายเงิน เช่น สำเนาเช็คที่ระบุชื่อผู้รับเงิน สำเนาใบโอนเงิน หรือช่องทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ
ที่มา CPD Academy อบรม CPD ง่ายๆ ได้ที่บ้าน