รวมวิธีการตั้งชื่อร้าน ให้มงคล เรียกทรัพย์

1. เลือกใช้คำที่มีความหมายในเชิงบวก สื่อถึงความก้าวหน้า เช่น มั่งคั่ง ร่ำรวย

ชื่อร้านค้าที่มีความหมายดี ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ และดึงดูดให้คนเข้าหา โดยต้องเลือกใช้คำที่เป็นมงคล มีความหมายในเชิงบวกและสื่อถึงความก้าวหน้า สำหรับเจ้าของธุรกิจที่อยากเพิ่มความเก๋โดยใช้ภาษาวัยรุ่นให้ศึกษาที่มาที่ไปและความหมายของคำให้ดี เพราะอาจมีความหมายแฝงในด้านลบได้

2. ตั้งชื่อร้าน ให้สอดคล้องกับดวงเจ้าของกิจการ 

การตั้งชื่อตามหลักโหราศาสตร์สามารถเลือกตั้งตามดวงของเจ้าของกิจการ และผู้ที่มีอำนาจลงนามเซ็นเอกสารต่างๆ เพื่อพิจารณาว่า ควรจะใช้ตัวอักษรใด เลขอะไรบ้าง แล้วจึงเลือกตามความเหมาะสมอีกขั้น เช่น จำง่ายไหม สะดวกกับการจดทะเบียน และการขยายกิจการในอนาคตหรือไม่ เป็นต้น ซึ่งการคำนวณชื่อตามหลักโหราศาสตร์ควรจะนับรวมคำต่อท้ายลักษณะกิจการอย่าง ห้างหุ้นส่วน บริษัทจำกัด หรือ บริษัทจำกัดมหาชน ด้วย เพราะคำเหล่านี้จะมีผลต่อค่าตัวเลขที่คำนวณด้วยนั่นเอง

3. ตั้งชื่อร้าน ให้สอดคล้องกับฤกษ์มงคลในการเปิดร้าน เปิดกิจการ 

การถือเรื่องฤกษ์ยามเป็นส่วนที่ช่วยเพิ่มความรู้สึกในด้านดี และเป็นจุดเริ่มต้นดีๆ ในการทำธุรกิจของคุณ ซึ่งหากมองมุมคนทั่วไปอาจถือฤกษ์สะดวก แต่หากมองมุมของโหราศาสตร์แล้ว แต่ละประเภทธุรกิจจะมีฤกษ์ที่เหมาะสมแตกต่างกันไป รวมถึงฤกษ์ในการจดทะเบียนบริษัท ฤกษ์การวางเสาเอกอาคาร ฤกษ์นำของเข้าร้านใหม่ เป็นต้น

4. ตั้งชื่อร้าน ด้วยการหลีกเลี่ยงอักษรกาลกิณี ตามวันเกิด  

นอกจากการตั้งตามดวง ตามหลักเลขศาสตร์ และตามฤกษ์มงคลแล้ว ก็สามารถตั้งโดยดูจากอักษรกาลกิณีตามวันเกิดของเจ้าของร้านได้ด้วยเช่นกัน เช่น หากคำนวณตามดวงแล้วได้ออกมาหลายชื่อ ก็อาจจะใช้เกณฑ์อักษรกาลกิณีในการคัดเลือกได้อีกขั้น

อักษรที่เป็นกาลกิณีตามวันเกิดคนเกิดแต่ละวัน

  • อักษรที่เป็นกาลกิณีของคนที่เกิดวันอาทิตย์ คือ ศ ษ ส ห ฬ ฮ
  • อักษรที่เป็นกาลกิณีของคนที่เกิดวันจันทร์ คือ อ สระทั้งหมด
  • อักษรที่เป็นกาลกิณีของคนที่เกิดวันอังคาร คือ ก ข ค ฆ ง
  • อักษรที่เป็นกาลกิณีของคนที่เกิดวันพุธกลางวัน คือ จ ฉ ช ซ ฌ ญ
  • อักษรที่เป็นกาลกิณีของคนที่เกิดวันพุธกลางคืน (ราหู) คือ บ ป ผ ฝ พ ฟ ภ ม
  • อักษรที่เป็นกาลกิณีของคนที่เกิดวันพฤหัสบดี คือ ด ต ถ ท ธ น
  • อักษรที่เป็นกาลกิณีของคนที่เกิดวันศุกร์ คือ ย ร ล ว
  • อักษรที่เป็นกาลกิณีของคนที่เกิดวันเสาร์ คือ ฎ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ

5. สะกดง่าย ออกเสียงไม่ยาก

เจ้าของธุรกิจทุกคนล้วนอยากให้ชื่อบริษัท ชื่อร้านจดจำง่าย ดังนั้นหลักในการตั้งชื่อจึงควรเป็นชื่อที่ออกเสียงง่าย และสะกดง่าย เพื่อให้ผู้บริโภคไม่สับสน เมื่อนึกชื่อร้านค้าแล้วออกเสียงถูก เขียนถูก ทำให้ค้นหาร้านค้าได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะในช่องทางออนไลน์ ที่สำคัญชื่อที่สะกดง่ายจะทำให้การติดต่อราชการหรือดำเนินธุรกิจ เช่น การสัญญาซื้อขาย เช็คสั่งจ่าย รวมไปถึงการจัดทำเว็บไซต์เป็นไปอย่างราบรื่น ลดปัญหาการเขียนเอกสารสำคัญต่างๆ ผิดพลาดในอนาคต

6. ไม่ยาวจนเกินไป เน้นสั้น กระชับ จำง่าย

ชื่อบริษัท ชื่อร้านไม่ควรยาวเกินไป เพื่อให้จดจำง่าย เข้าใจความหมายได้ไม่ยาก และควรสื่อถึงสินค้าของร้าน ให้รู้ว่าร้านค้าเป็นร้านค้าขายสินค้าประเภทใด เกี่ยวกับอะไร เมื่อลูกค้าอยากซื้อสินค้าจะได้นึกถึงชื่อร้านค้าของคุณ

7. ง่ายต่อการจดจำตรงกับภาพลักษณ์ของแบรนด์

ถ้าร้านค้ามีภาพลักษณ์หรือคอนเซ็ปต์ร้านที่ชัดเจน สามารถตั้งชื่อร้านค้าโดยเลือกจุดโดดเด่นของร้านมาตั้ง เช่น ร้านค้าที่ขายต้นไม้ หรือตกแต่งด้วยต้นไม้ อาจหยิบคำว่า ร่มรื่น สวน หรือ tree มาเป็นส่วนหนึ่งของชื่อร้านได้

8. ตั้งชื่อให้เข้ากับประเภทของกิจการ

พิจารณาจากประเภทกิจการที่ประกอบ ได้แก่ ลักษณะห้างหุ้นส่วน ลักษณะบริษัทจำกัด บริษัทจำกัดมหาชน เพราะเจ้าของธุรกิจที่เชื่อในศาสตร์ของตัวเลข ค่าของตัวอักษรในคำเหล่านี้ต้องอยู่กับชื่อด้วย

9. ไม่ควรตั้งชื่อซ้ำหรือใกล้เคียงบริษัท และร้านค้าอื่นๆ

ตั้งชื่อบริษัทหรือร้านค้าที่ตั้งต้นจากสินค้า หรือคอนเซ้ปต์ร้านค้า ไม่ควรตั้งชื่อซ้ำหรือใกล้เคียงบริษัทและร้านค้าอื่นๆ เพื่อป้องกันผู้บริโภคเข้าใจผิด และป้องกันการฟ้องร้องจากบริษัทที่มีชื่อเสียง สร้างปัญหาระหว่างเจ้าของธุรกิจ ดังนั้นควรเช็กให้ชัวร์ว่าชื่อร้านค้าที่ใช้ไม่มีซ้ำ ได้ที่เว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจร้านค้า กระทรวงพาณิชย์ www.dbd.go.th กดเลือกจองชื่อ/ตรวจคำขอจดทะเบียนนิติบุคคล

10. มีความแปลกใหม่ น่าสนใจ

ปัจจุบันธุรกิจ SME นิยมตั้งชื่อร้านค้าให้มีความแปลกใหม่และน่าสนใจ โดยใช้วิธีตั้งชื่อผ่านการเล่นคำ การเล่นเสียง การเลียนเสียงธรรมชาติ ภาษาวัยรุ่น หรือการใช้คำไทยผสมภาษาต่างประเทศ ช่วยสร้างสีสันและดึงดูดความน่าสนใจของลูกค้าที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้อย่างดี

11. เผื่อขยายกิจการในอนาคต

หลีกเลี่ยงการใช้ตัวอักษรย่อและคำย่อ เพราะยากต่อการขยายกิจการสาขา รวมถึงไม่ตั้งชื่อเฉพาะเจาะจง ชื่อร้านตามสถานที่ตั้ง เพราะอาจมีปัญหาเรื่องทำเลในอนาคต หรือการตั้งชื่อตามชื่อบุคคล เพราะไม่สร้างความดึงดูดใจให้ลูกค้า หากลูกค้าไม่รู้จักบุคคลนั้นๆ

ที่มา trueid.net และ krungthai.com