5 ปัจจัยรักษาคนเก่ง อยู่คู่องค์กร

แม้ว่าจะมีข้อจำกัดในการบริหารจัดการและการเก็บรักษาคนเก่งอยู่บ้าง แต่ไม่ว่าอย่างไร องค์กรก็ยังต้องให้ความสำคัญในการเก็บรักษาคนเก่งไว้อยู่ดี เพราะนี่คือทรัพยากรบุคคลที่สำคัญที่สุดที่จะสร้างผลงานชั้นเลิศให้กับองค์กร จากงานวิจัยของ Ivan Hurtt Strategic HR Evangelist บริษัท BambooHR กับ Mykkah Herner Modern Compensation Evangelist ทำงานอยู่ที่ PayScale สองคนนี้ได้รวบรวมข้อมูล และทำวิจัยแนวทางในการเก็บรักษาพนักงาน (Retain) พนักงานที่เก่ง ๆ (Talent) ในยุคนี้ว่าจะต้องมีปัจจัยอยู่ 5 ปัจจัย ดังต่อไปนี้

1.Pay Fairly

ปัจจัยแรกที่คนเก่งมักจะพูดถึงกันในสมัยนี้ก็คือ เรื่องของค่าตอบแทน ซึ่งถ้าเป็นยุคสมัยก่อน เรื่องของค่าตอบแทนมักเป็นปัจจัยท้าย ๆ ที่มีผลต่อการเก็บรักษาพนักงาน แต่ปัจจุบันดูเหมือนจะไม่ใช่อีกต่อไป เรื่องของค่าตอบแทนกลับกลายเป็นเรื่องที่พนักงานโดยเฉพาะคนเก่ง ๆ ให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเรื่องของค่าตอบแทนที่เป็นธรรมนั้น จะต้องเป็นธรรมบนพื้นฐานของผลงานที่พนักงานทำ ประสบการณ์ และทักษะในการทำงาน นั่นก็คือ ถ้าพนักงานคนไหนที่สามารถทำงานสร้างผลงานที่โดดเด่นได้ และมีความรู้ทักษะที่โดดเด่นไม่มีใครเหมือน ก็ให้จ่ายค่าตอบแทนที่แตกต่างออกไปเลย เพื่อที่จะให้คนกลุ่มนี้อยู่ทำงานกับองค์กรต่อไป

2.Flexibility

ปัจจัยที่สองที่คนเก่งในยุคนี้ต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ ก็คือ ความยืดหยุ่นในการทำงาน คนเก่งสมัยนี้ไม่ต้องการกฎระเบียบข้อบังคับในการทำงานที่เคร่งครัดจนเกินไป ไม่ต้องการเวลาการทำงานที่เป๊ะ ฯลฯ แต่สิ่งที่คนเก่งในยุคนี้ต้องการมากๆ ก็คือ ความยืดหยุ่นในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวันเวลาในการทำงาน ระเบียบข้อบังคับที่ไม่ยุ่งยาก ต้องการให้ทุกอย่างมีความยืดหยุ่นได้หมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวัน – เวลาในการทำงาน การแต่งกาย วิธีการทำงาน สถานที่ทำงาน ค่าจ้าง สวัสดิการ ฯลฯ ต้องยืดหยุ่น และสอดคล้องกับความต้องการได้อย่างดี

3.Respect

ปัจจัยที่สามนี้ เป็นปัจจัยที่สำคัญในทุกยุคทุกสมัย คนเก่งทุกคนต้องการที่ได้รับการยอมรับนับถือจากคนอื่นในองค์กร โดยเฉพาะจากนายของตนเอง ดังนั้นถ้าหากเราต้องการเก็บรักษาคนเก่งไว้ให้ได้ แปลว่า เราต้องให้ความรู้ และสนับสนุนให้ผู้จัดการทุกระดับขององค์กรเป็นคนที่สามารถที่จะให้การยอมรับในฝีมือของลูกน้องตนเองได้

4.Offer Interesting Work

คนเก่งไม่ชอบที่จะทำงานเดิม ๆ ซ้ำ ๆ ไปเรื่อย ๆ แต่ชอบที่จะได้รับงานที่ท้าทายและน่าสนใจ ดังนั้น การที่หัวหน้ามอบหมายงานที่ท้าทายให้ หรือมีการหมุนเวียนงาน โยกย้ายงานบ้าง ก็จะทำให้คนเก่งรู้สึกดี เพราะเขาจะรู้สึกว่า ได้รับการพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา

5.Inspire Autonomy

ปัจจัยที่ห้าก็คือ การให้อิสระในการทำงาน คนเก่ง ๆ ย่อมมีวิธีการในการทำงานของตนเอง รู้จักที่จะคิด และหาทางที่จะได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่องค์กรต้องการได้ด้วยตนเอง ดังนั้นองค์กรจึงควรที่จะให้โอกาสแก่คนกลุ่มนี้ในการคิด สร้างสรรค์วิธีการทำงานของตนเอง ไม่ควรจะบอกและสั่งให้ทำทุกอย่างตามวิธีการเดิม ๆ แต่ใช้วิธีการมอบหมายงานโดยบอกผลลัพธ์ที่องค์กรต้องการ จากนั้นก็ให้เขาไปหาวิธีการด้วยตนเอง และหัวหน้าก็ตรวจสอบอยู่ห่าง ๆ เป็นระยะ ๆ ก็พอ

 

ประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ เมื่อเราทราบแล้วว่านี่คือปัจจัยที่จะเก็บรักษาคนเก่ง ๆ ไว้ได้ แล้วเราจะลงมือสร้างสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นในองค์กรของเราได้อย่างไร การที่เราสูญเสียคนเก่ง ๆ ไปเรื่อย ๆ มันคือต้นทุนที่แพงมากขององค์กร เพราะต้องหาคนเข้ามาทดแทน และยังต้องอบรมพัฒนาเขาให้เก่งให้ได้ ซึ่งล้วนแต่เป็นต้นทุนที่สูงมาก
เพราะฉะนั้นการที่องค์กรยอมลงทุนในปัจจัยที่จะเก็บรักษาคนเก่ง ๆ ไว้ ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดีสำหรับการบริหารทรัพยากรบุคคลในยุคอนาคต ที่องค์กรต้องการคนเก่ง ๆ เข้ามาทำงานเพื่อสร้างอนาคตขององค์กร

 

ที่มา : ธรรมนิติ