หลายๆคนเชื่อว่าวัฒนธรรมองค์กร จะเกิดโดยธรรมชาติแบบค่อยเป็นค่อยไป (organic growth) ไปยุ่งอะไรกับมันมากไม่ได้ แต่เราสามารถตั้งใจออกแบบวัฒนธรรมองค์กรดีๆขึ้นมาได้ ซึ่งนอกจากมันจะช่วยสร้างความผูกพันของคนในองค์กรได้แล้วยังส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อผลลัพธ์ทางธุรกิจด้วย
ชนเผ่า (Tribal Culture)
เป็นวัฒนธรรมที่เน้นเรื่องความสัมพันธ์และมิตรภาพระหว่างกัน โดยเชื่อว่ามันจะเป็นคำตอบขององค์กรในระยะยาว คนในองค์กรแนวนี้จะมีสิ่งที่คล้ายๆกันทั้งในเชิงพฤติกรรมและวิธีคิด อยู่กันแบบครอบครัวที่มีผู้บริหารห่วงใยพนักงานวางตัวเป็นโค้ชมากกว่าเป็นบอส การตัดสินใจต่างๆจะอยู่บนพื้นฐานของประชาธิปไตยและการเห็นพ้องต้องกันเป็นหลัก
สร้างสรรค์ (Creative Culture)
วัฒนธรรมองค์กรแบบ ไอเดียเป็นใหญ่ โดยไม่เกี่ยวกับลำดับขั้นในองค์กร การมองหาสิ่งใหม่ๆที่ดีกว่า ผู้บริหารมักจะเป็นผู้มีความฝันที่ยิ่งใหญ่และวิสัยทัศน์ที่ยาวไกล ทุกคนในองค์กรจึงถูกปลูกฝังวิธีคิดแบบลองผิดลองถูก ล้มเหลวได้ เสี่ยงได้ เพื่อจะนำมาซึ่งนวัตกรรม
ควบคุม (Controlling Culture)
เป็นรูปแบบที่เชื่อเรื่องการเบ็ดเสร็จเด็ดขาดที่มาจากผู้นำซึ่งเป็นผู้กำหนดทิศทางที่ชัดเจนในเกือบทุกเรื่องในองค์กร คาดหวังให้ผู้คนทำตามกฏระเบียบและหน้าที่ของตนอย่างเคร่งครัด มุ่งเน้นด้านความมีประสิทธิภาพมากกว่านวัตกรรมใหม่ๆ การตัดสินใจเป็นไปโดยคนไม่กี่คนข้างบนผ่านการใช้อำนาจตามตำแหน่งงาน
แข่งขัน (Competitive Culture)
ความสำเร็จเท่านั้นที่เป็นคำตอบ เป็นนิยามที่ชัดเจนขององค์กรแนวนี้ การทำงานแบบเน้นผลลัพธ์ในกลุ่มคนที่ถูกจูงใจด้วยเป้าหมายและความทะเยอทะยาน ทุกคนมีแนวคิดแบบแข่งขันและท้าทายกันและกัน การอยู่ร่วมกันจะเป็นแบบเป็นการเป็นงานและเน้นการพูดคุยเรื่องงานเป็นหลัก ผู้บริหารจะเป็นนักกลยุทธ์ที่นำทิศทางองค์กรในแบบของตน ตามตัวชี้วัดที่ออกแบบมาค่อนข้างชัดเจนทุกมิติเพื่อวัดความสำเร็จ
ไม่มีวัฒนธรรมที่ถูกและผิด แต่ทุกอย่างขึ้นอยู่กับบริบทและความเชื่อของผู้ก่อตั้ง องค์กรที่อยู่ในธุรกิจเดียวกันก็ไม่จำเป็นต้องมีวัฒนธรรมในแบบเดียวกัน และที่สำคัญองค์กรมักจะมีส่วนผสมวัฒนธรรมมากกว่าหนึ่งรูปแบบ
ที่มา www.brightsidepeople.com