ลูกจ้างเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง เลิกจ้างได้

          โรคพิษสุราเรื้อรัง คือ กลุ่มที่ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากติดต่อกันมาเป็นระยะเวลานานจนไม่สามารถเลิกดื่มได้ ทำให้ส่งผลเสียต่อสภาพร่างกาย หรือการทำงาน ครอบครัว และสังคมรอบข้าง และเพื่อไม่ให้สุขภาพของผู้ป่วยมีปัญหามากขึ้นไปอีก การหยุดดื่ม ถือว่าเป็นทางแก้ปัญหาเพียงทางเดียว และที่สำคัญ  ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เพื่อให้แนวทางการรักษาเป็นไปอย่างถูกวิธี

          แอลกอฮอล์มีผลกระทบเกือบทุกส่วนของร่างกาย การดื่มแอลกอฮอล์ไม่สามารถบอกเป็นเปอร์เซ็นต์ได้ว่า ดื่มมากน้อยแค่ไหนถึงจะเสี่ยงโรคอะไร แต่สามารถบอกได้ว่าคนที่ดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ 50-60 กรัม ติดต่อมาเป็นระยะเวลานาน 10 ปี จะทำให้เกิดภาวะโรคตับแข็งได้ ถ้าหากคนดื่มมีโรคประจำตัวอื่นร่วมด้วยอยู่แล้ว อาการจะยิ่งเป็นเร็วมากขึ้น  ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากจะส่งผลกระทบต่ออวัยวะต่างๆ ในร่างกายได้ โดยที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือตับ เนื่องจากตับเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่กำจัดสารพิษจากแอลกอฮอล์โดยตรง ดังนั้นการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป จะทำให้เกิดภาวะไขมันเกาะตับมากขึ้น เกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรัง และเกิดภาวะตับแข็งได้

          นอกจากจะทำลายสุขภาพแล้วนั้น ยังทำลายหน้าที่การงาน เมื่อความไม่สมบูรณ์ของสุขภาพ กระทบต่อประสิทธิภาพในการทำงาน นายจ้างก็สามารถเลิกจ้างได้ โดยจะแบ่งเป็น 2 กรณี

กรณีที่ 1 ติดสุราเรื้อรังแบบที่ขณะทำงานไม่ได้ดื่ม แต่อาการไม่ค่อยจะดี ไม่มีสมาธิ ไม่โฟกัส ประสิทธิภาพถดถอย แบบนี้ นายจ้างย่อมเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นโรคพิษสุราเรื้อรังได้ กรณีนี้ถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม แต่ต้องจ่ายค่าชดเชย

กรณีที่ 2  ดื่มขณะทำงาน หรือดื่มตอนเวลาพักแล้วกลับมาทำงานต่อ ในกรณีแบบนี้ อาจเกิดความเสียหายแก่กิจการของนายจ้างและผู้ปฏิบัติงานในสถานที่ทำงานของนายจ้าง ดังนั้น นายจ้างสามารถเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและการเลิกจ้างเป็นธรรมแล้ว

          แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าในกรณีที่ 1 หรือกรณีที่ 2 ก็เกิดผลเสียแก่พูดดื่มทั้งสองกรณี ไม่ใช่แค่เรื่องงานแต่ยังรวมถึงเรื่องสุขภาพ และอาจมีเรื่องอื่นๆเป็นผลพวงตามมาจากการดื่มที่มากเกินไปด้วย ดังนั้นควรดื่มแต่พอดี 

 

ที่มา ลีกัล คลินิก แอนด์ เอดดูเคชั่น