สัญญาจ้างคนทำงาน ตามกฎหมายแยกออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้
1.สัญญาจ้างแรงงาน (Hire of Service) - เป็นการจ้างงานที่เห็นกันทั่วไปในองค์กรธุรกิจต่างๆ เป็นสัญญาระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง มีลักษณะพิเศษคือ นายจ้างมีอำนาจบังคับบัญชาเหนือลูกจ้าง และมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างตอบแทนการทำงานของลูกจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้ ไม่ว่างานที่ทำจะสำเร็จหรือไม่ก็ตาม
เมื่อทำสัญญาประเภทนี้แล้ว ทั้งนายจ้างและลูกจ้างจะอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายแรงงาน และลูกจ้างจะต้องเป็นบุคคลธรรมดาเท่านั้น นิติบุคคลเป็นลูกจ้างไม่ได้
2.สัญญาจ้างทำของ (Hire of Work) - หรือสัญญาบริการที่เรียกกันทั่วไป สัญญาแบบนี้มุ่งเน้นที่ผลสำเร็จของงาน พูดง่ายๆก็คือผู้ว่าจ้างจะจ่ายเงินให้แก่ผู้รับจ้างต่อเมื่อทำงานสำเร็จตามที่ตกลงกันไว้เท่านั้น
ผู้รับจ้างไม่ใช่ลูกจ้างไม่ได้อยู่ใต้อำนาจบังคับบัญชาของผู้ว่าจ้าง และไม่ได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายแรงงานฉบับใดเลย
ทั้งนี้ ผู้รับจ้างจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ เช่น พนักงานอิสระ (Freelance) จ้างออกแบบตกแต่ง จ้างช่างรับเหมา จ้างบริษัทรักษาความสะอาด จ้างบริษัทรักษาความปลอดภัย และอื่นๆ
3.สัญญาตัวแทน (Agency) - การจ้างงานประเภทนี้ที่เห็นกันอยู่ทั่วไป เช่น ตัวแทนประกันชีวิต ตัวแทนประกันวินาศภัย พนักงานขายบัตรเครดิต และพนักงานขายสินเชื่อของสถาบันการเงิน
การทำงานแบบตัวแทนจะเป็นมีนิติสัมพันธ์ 3 ฝ่ายคือ ตัวแทนเป็นผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากตัวการ เพื่อทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งให้กับตัวการ เช่น ตัวแทนขายประกันทำหน้าที่เชิญชวนให้ผู้เอาประกันมาทำสัญญากับบริษัทรับประกัน
4.สัญญานายหน้า (Brokerage) - การทำงานตามสัญญานายหน้าคล้ายกับสัญญาตัวแทน เพียงแต่นายหน้าไม่ได้เข้าร่วมทำสัญญา 3 ฝ่าย มีหน้าที่เป็นเพียงคนกลางในการชี้ช่องให้บุคคลหนึ่งเข้าทำสัญญากับอีกคนหนึ่งเพื่อรับค่าตอบแทน รูปแบบที่เห็นกันเช่น นายหน้าขายอสังหาริมทรัพย์
จากทางเลือกทั้ง 4 ประเภทการจ้างงาน หากท่านต้องการมีอำนาจควบคุมสั่งการ ให้ลูกจ้างทำงานอะไร เมื่อไหร่ ที่ไหน และที่สำคัญคือ “อย่างไร” ก็ต้องเป็นการจ้างแรงงานเท่านั้น และต้องศึกษาเรื่องกฎหมายแรงงานให้ชัดเจน
แต่ถ้าท่านต้องการเพียงแค่ “ผลลัพธ์ของงาน” โดยไม่สนใจวิธีการทำงาน ท่านสามารถเลือก 3 รูปแบบหลังก็ได้ ซึ่งมีจุดเด่นตรงที่ ท่านจะจ่ายค่าจ้างหรือค่าตอบแทนก็ต่อเมื่อได้ผลลัพธ์ของงานแล้วเท่านั้น และไม่ต้องกังวลกับเรื่องกฎหมายแรงงาน
ที่มา HR สภากาแฟ
06 October 2020
View
7,795