คิดให้ดีก่อนเปิดร้านกาแฟ! มุมดาร์กๆ ของธุรกิจคาเฟ่ที่คุณต้องรู้ก่อนกระโดดเข้าสู่วงการ

อาชีพในฝันของใครหลายคนคงหนีไม่พ้นการได้เป็นเจ้าของร้านกาแฟ ได้นั่งอยู่ในห้องแอร์เย็นๆ ร้านสวยๆ เปิดเพลงเพราะๆ ได้ชงกาแฟ ต้อนรับลูกค้า ทุกอย่างดูแฮปปี้ มีความสุข แต่หลายคนที่ได้กระโดดเข้ามาลองทำอาจจะส่ายหน้าแล้วบอกว่าหนีไป! เพราะเบื้องหลังของธุรกิจที่ดูสวยงามนี้ก็ยังมีมุมดาร์กๆ ซ่อนอยู่

1.ลูกค้านั่งแช่นาน ออเดอร์ไม่หมุนเวียน

     แน่นอนว่าคุณต้องดีใจเมื่อมีลูกค้าเข้าร้านและมาอุดหนุนเครื่องดื่มของคุณ แต่คุณจะทำอย่างไรดี เมื่อลูกค้าหนึ่งคนนั่งแช่ยาวนานหลายชั่วโมงหรือลูกค้ามาเป็นกลุ่มแต่สั่งเครื่องดื่มแค่แก้วเดียวเพื่อถ่ายรูป ทำให้การขายไม่หมุนเวียน มีหลายร้านใช้วิธีกำหนดออเดอร์ขั้นต่ำ 1 คน/1 แก้ว ในการใช้บริการ หรือหลายร้านก็มีการแชร์วิธีแก้ปัญหาลูกค้านั่งแช่นานด้วยการจำกัดการใช้ไวไฟ เช่น 1 ออเดอร์ใช้งานได้ 2 ชั่วโมง เป็นต้น นี่เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่เจ้าของร้านหลายคนหนักใจ การจะไล่ลูกค้าก็ดูไม่ดี แต่บางคนก็นั่งนานเกินไปจนทำให้ลูกค้าใหม่ๆ ไม่สามารถใช้พื้นที่ได้

2.ร้านสวย แต่ลูกค้าเบื่อ

     ธุรกิจร้านกาแฟเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงมาก โดยเฉพาะยุคนี้ที่ทุกคนต้องเน้นร้านสวย ร้านเก๋ มีความแปลกแตกต่างไม่เหมือนใครเพื่อเอาใจลูกค้าสายโซเชียล แต่การทำแบบนี้อาจจะทำให้คุณโด่งดังได้ในระยะสั้นๆ เพราะลูกค้าสายแชะค่อนข้างขี้เบื่อและมองหาร้านใหม่ๆ เพื่อทำคอนเทนต์อยู่เสมอ ฉะนั้น การแข่งขันที่การตกแต่งร้านหรือความสวยงามอย่างเดียวอาจจะไม่ยั่งยืน คุณจำเป็นต้องมีจุดยืนด้านอื่นด้วย โดยเฉพาะรสชาติกาแฟและคุณภาพเพื่อทำให้ลูกค้าหน้าใหม่กลายเป็นลูกค้าประจำ

3.มีคนมาใช้สถานที่แบบไม่บอกกล่าว เช่น ถ่ายรูปเสื้อผ้า รบกวนลูกค้าคนอื่น

     อีกหนึ่งประเด็นที่ร้านกาแฟสวยๆ มักต้องเจอนั่นคือการเข้ามาใช้สถานที่แบบไม่ได้รับอนุญาต เช่น การเข้ามาถ่ายรูปของแบรนด์ต่างๆ หลายร้านเจอการเอานางแบบเสื้อผ้าเข้ามาถ่ายรูป มีการเปลี่ยนเสื้อผ้า ที่สำคัญยังรบกวนการใช้บริการของลูกค้าคนอื่นๆ ด้วย ทางที่ดีควรมีการติดป้ายห้ามหรืออาจจะเปิดให้เช่าถ่ายรูปเป็นรายชั่วโมง โดยจำกัดบริเวณ เพื่อไม่ให้กระทบกับลูกค้าทั่วไปด้วย

4.มีดราม่าบนโซเชียล ลูกค้าไม่พอใจในการบริการ

     เพราะดราม่าไม่เข้าใครออกใคร ซึ่งแน่นอนว่ายิ่งร้านดัง เป็นที่รู้จักในวงกว้าง มีลูกค้าเยอะ ก็ย่อมตามมาด้วยเสียงตอบรับทั้งในแง่ดีและไม่ดี บางครั้งคุณอาจจะลงไปดูแลลูกค้าได้ไม่ทั่วถึง ทำให้ลูกค้าไม่พอใจ ตามมาด้วยการรีวิวร้านในแง่ลบ และหลายร้านใช้วิธีตอบกลับด้วยอารมณ์จนเกิดเป็นดราม่าบนโลกโซเชียลแบบที่หลายร้านเคยเจอมา ฉะนั้น จงมีสติในการรับมือกับรีวิว การขอโทษลูกค้าไม่ใช่เรื่องเสียหาย น้อมรับคำติมาปรับปรุงเพื่อให้ดึงใจลูกค้ากลับมา

5.ขายดีแต่ขาดทุนแบบไม่รู้ตัว

     หลายร้านอาจจะไม่มีปัญหาเรื่องการขาย หลายคนขายดีเป็นเทน้ำเทท่า แต่พอลองมานั่งทำบัญชีจริงๆ อาจพบว่าคุณกำลังขาดทุนโดยไม่รู้ตัว เพราะการทำธุรกิจนั้นมีต้นทุนแฝงค่อนข้างเยอะ ไม่ว่าจะเป็นค่าต้นทุนวัตถุดิบ ค่าจ้างพนักงาน ค่าเช่าที่ ค่าเสื่อมสภาพของแมชชีน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าของตกแต่งร้าน ค่าแรงของคุณเองและอื่นๆ อีกมากมายที่คุณอาจจะคิดไม่ถึง นี่จึงเป็นเรื่องที่คุณต้องกลับมาคิดให้ดีว่าขายในราคานี้มันคุ้มทุนจริงไหม!

 

ที่มา : www.smethailandclub.com