The Great Resignation กระแสการลาออกระลอกใหญ่ กับความต้องการของมนุษย์เงินเดือน

The Great Resignation 

          คือ กระแสการลาออกจำนวนมากของพนักงานในช่วงการระบาดของโควิดซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเมื่อโควิดซาและเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว กระแสนี้เป็นสิ่งที่องค์กรต้องจับตาและเร่งเตรียมแผนรองรับหากไม่อยากสูญเสียพนักงานมากความสามารถออกจากองค์กร

          The Great Resignation มีสาเหตุมาจากผลกระทบที่พนักงานได้รับจากการทำงานในระหว่างการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้คนทำงานได้กลับมาทบทวนตัวเองอีกครั้งว่าจริงๆ ชีวิตการทำงานในรูปแบบที่ต้องการเป็นอย่างไร ซึ่งทำให้สิ่งที่คนทำงานคาดหวังจากการทำงานในปี 2021 และต่อจากนี้เปลี่ยนไปและมีความคาดหวังที่จะได้รับในสิ่งที่ดีขึ้นกว่าเดิมจากองค์กร ดังนั้นหากองค์กรไม่สามารถปรับตัวตามความต้องการของพนักงานได้ทันก็จะนำมาสู่การลาออกครั้งใหญ่ในตลาดแรงงานและจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นเมื่อสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และเศรษฐกิจค่อยๆ ดีขึ้นเนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงที่น้อยลง ซึ่งปรากฏการณ์นี้มีตัวอย่างให้ดูแล้วจากประเทศสหรัฐอเมริกาที่ในเดือนเมษายนและกรกฎาคมที่ผ่านมามีคนลาออกทำสถิติสูงสุดอยู่ที่ราวเดือนละ 4 ล้านคน

1. โควิดทำให้พนักงานต้องการ work from anywhere

          การ work from home เป็นเวลานานทำให้คนทำงานได้เรียนรู้ว่าเราสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ทั้งยังช่วยเพิ่มสมดุลการใช้ชีวิตจากการทำงานที่ยืดหยุ่น แต่เมื่อโควิดซาลงองค์กรจำนวนไม่น้อยกลับคาดหวังให้พนักงานกลับมาทำงานที่ออฟฟิศซึ่งขัดแย้งกับความคิดของพนักงาน ทำให้พนักงานส่วนใหญ่แสวงหาชีวิตการทำงานที่ยืดหยุ่น

2. โควิดทำให้พนักงานต้องการ well-being

          ช่วงโควิดที่ผ่านมาพนักงานจำนวนมากมองว่าองค์กรไม่ค่อยได้ช่วยเหลือพนักงานในการป้องกันพนักงานจากการติดเชื้อโควิดได้ดีเท่าที่ควร โดยเฉพาะพนักงานในภาคบริการที่ต้องยังต้องเดินทางมาทำงานที่ออฟฟิศและต้องทำงานพบปะผู้คน สิ่งนี้ทำให้พนักงานรู้สึกเสี่ยง กับภาระค่าใช้จ่ายในการป้องกันโควิดในการทำงานที่พนักงานต้องรับผิดชอบเอง เช่น ค่าหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ ค่าตรวจโควิด การวิ่งเต้นหาวัคซีน หรือการไม่ให้ค่าจ้างในช่วงที่พนักงานไม่มาทำงานเพราะป่วยเป็นโควิดหรือต้องกักตัว รวมถึงเรื่องความมั่นคงทางการเงินที่สูญเสียไปเพราะถูกลดค่าจ้างหรือถูกเพิ่มชั่วโมงการทำงานแต่ได้รับเงินเดินเท่าเดิมสิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้คุณภาพชีวิตของพนักงานแย่ลง ดังนั้นการที่องค์กรไม่มาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของพนักงานในจุดนี้หรือทำได้ต่ำกว่าที่คาดหวังก็เป็นสาเหตุที่ทำให้พนักงานเอาใจออกห่างและอยากลาออกจากองค์กร

3. โควิดทำให้พนักงานหมดไฟ

          ในช่วงล็อคดาวน์ที่พนักงานออฟฟิศต้องปรับมาทำงานที่บ้านแบบเต็มรูปแบบ มีองค์กรจำนวนไม่น้อยที่ออกมาตรการให้พนักงานหาวิธียืนยันตัวตนในเวลาทำงานอยู่บ่อยๆ รวมถึงใช้การบริหารแบบ micro management เพื่อให้แน่ใจว่าพนักงานจะอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ตลอดเวลา สิ่งนี้อาจสร้างความอึดอัดใจให้พนักงานเป็นอย่างมาก รวมถึงตั้งแต่มีการ Work From Home พนักงานต้องเจอกับภาระงานที่หนักขึ้นกว่าตอนทำงานที่ออฟฟิศและขาดสมดุลในการใช้ชีวิต ด้วยสาเหตุต่างๆ เหล่านี้พนักงานจึงรู้สึกเบื่อหน่ายและหมดไฟที่จะทำงานโดยจากผลสำรวจของ Adecco พบว่ามีพนักงาน 63% ที่ต้องทำงานล่วงเวลาในช่วงที่ผ่านมา และมีพนักงานถึง 4 ใน 10 ที่เข้าสู่ภาวะหมดไฟ

4. โควิดทำให้พนักงานกังวลเรื่องความมั่นคงในอาชีพ

          ความไม่แน่นอนในช่วงโควิดส่งผลให้พนักงานมีความกังวลเรื่องความมั่นคงในอาชีพมากขึ้น พนักงานจึงกลับมาประเมินองค์กรของตนอีกครั้งว่าได้มอบโอกาสในการพัฒนาความรู้และทักษะหรือไม่ มีโอกาสที่จะเติบโตในที่ทำงานเดิมหรือไม่ รวมถึงเรื่องความมั่นคงทางการเงินขององค์กรและอนาคตในอุตสาหกรรม ซึ่งหากองค์กรไม่มีความชัดเจนตรงนี้ พนักงานก็จะไม่มั่นใจในอนาคตและมองหาลู่ทางในการย้ายงานเช่นเดียวกัน

          กระแส The Great Resignation เป็นปรากฏการณ์ลาออกครั้งใหญ่ที่เริ่มเกิดขึ้นแล้วในประเทศฝั่งตะวันตกที่สามารถควบคุมโรคระบาดได้และมีสถานการณ์เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้น กระแส The Great Resignation จึงเหมือนเป็นสัญญานเตือนให้องค์กรต่างๆ หันมาดูแลพนักงานให้ดียิ่งขึ้นเพื่อป้องกันการลาออกครั้งใหญ่ของพนักงานจำนวนมากในองค์กร

 

ที่มา adecco