หลังจากพิจารณาเรซูเม่และสัมภาษณ์ผู้สมัครงานเสร็จแล้ว ก็ถึงขั้นที่ HR จะมาพิจารณาประเมินผล ตลอดจนสรุปคัดเลือกคนที่เหมาะสมที่สุดเข้าทำงาน แน่นอนว่าหากเป็นคนที่ยังไม่เคยร่วมงานกับบริษัทมาก่อน การที่ฝ่าย HR จะรู้จักคนนั้นอย่างถ่องแท้คงเป็นไปได้ยาก แต่หากผู้สมัครงานเหล่านี้แสดงศักยภาพหรือลักษณะบางอย่างให้เราสัมผัสได้ ก็เป็นสัญญาณที่ดีที่มีแต้มต่อให้ฝ่าย HR ตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้น
1.มีความรู้ความสามารถในงานที่ทำ
HR สามารถตรวจสอบเบื้องต้นได้จากประวัติการศึกษาและประวัติการทำงานที่ผ่านมา รวมถึงการสัมภาษณ์ที่เจาะลึกลงรายละเอียดการทำงานนั้นๆ หรือแม้กระทั่งการสอบถามไปยังบริษัทเก่าของผู้สมัคร การเลือกผู้ที่ทำงานเป็น พร้อมเริ่มงานได้เลย นอกจากจะไม่ต้องเสียเวลามากในการสอนงานแล้ว ฝ่าย HR ยังสามารถช่วยหาหลักสูตรในการเสริมทักษะเพื่อพัฒนาศักยะภาพ เพื่อเพิ่มประสิทธิผลให้กับบริษัทได้ดีขึ้นอีกด้วย
2.มันใจในตัวเอง แต่ไม่หลงตัวเอง
ความมั่นใจในตัวเองบางทีก็เป็นเหมือนเส้นแบ่งบางๆ ระหว่างความมี “อีโก้ (Ego)”
สิ่งที่ฝ่าย HR จะเช็คผู้สมัครงานได้เบื้องต้นก็คือลักษณะของการคุยโว โอ้อวด หลงตัวเอง และมักโทษโน่นโทษนี่เสมอ หรือไม่ยอมรับคำติ ไม่ฟังความคิดเห็นจากผู้อื่น ใช้ความคิดเห็นตัวเองเป็นใหญ่จนเกินพอดี และตัวเองมักถูกเสมอ บ่อยครั้งที่พูดอวดตนว่าสามารถทำได้ แต่พอเอาเข้าจริงก็ไม่ยอมทำ
3.มีทักษะในการวางแผน มีไหวพริบในการแก้ปัญหา
คำถามที่ฝ่าย HR จะสัมภาษณ์ผู้สมัครอยู่เสมอก็คือทักษะในการแก้ปัญหาตลอดจนการเผชิญกับความกดดันต่างๆ สิ่งที่ฝ่าย HR สามารถเช็คได้เบื้องต้นก็อาจจะมาจากคำถามยอดฮิตอย่างวิธีจัดการปัญหาและการทำงานภายใต้ความกดดัน หรืออาจจะลองสมมติสถานการณ์ขึ้นเพื่อทดสอบวิธีคิดไปจนถึงวิธีแก้ปัญหาของผู้สมัคร
4.กระตือรือร้น ขยันขันแข็ง รับผิดชอบ
คุณลักษณะที่ดีทั้งสามอย่างนี้มักจะมาพร้อมกัน และเป็นคุณสมบัติที่ดีสำหรับพนักงาน ความกระตือรือร้นนั้นอาจดูได้จากบุคลิกไปจนถึงการพูดจาในขณะสัมภาษณ์งาน ไปจนถึงความสนใจในข้อมูลต่างๆ ที่จะนำมาตอบ หรือการตอบสนองการสนทนาที่ช่วยให้การพูดคุยราบรื่นและไม่น่าเบื่อ
5.ยอมรับความผิดพลาดได้ พร้อมแก้ไขข้อบกพร่อง
ไม่เคยมีใครที่ไม่เคยทำผิดพลาดมาก่อน แต่ผู้ที่รู้จักยอมรับความผิดพลาดของตัวเองได้ พร้อมลุกขึ้นมาแก้ไขข้อบกพร่อง แล้วพร้อมจะเดินต่อ ทำให้ดีขึ้นกว่าเก่า เป็นคนที่น่าปรบมือให้ที่สุด ในการสัมภาษณ์งานก็คือความล้มเหลวของคุณคืออะไร และรับมือกับมันอย่างไร อย่างนั้นสิ่งนี้ก็สามารถสะท้อนทัศนคติเรื่องนี้ในเบื้องต้นได้เป็นอย่างดี หรือการตรวจสอบข้อมูลไปยังบริษัทเก่าที่ผู้สมัครเคยทำงาน ก็อาจรู้ได้ว่าผู้สมัครคนนั้นมีคุณสมบัติในข้อนี้ดีแค่ไหนได้เช่นกัน
6.ควบคุมอารมณ์ได้ ให้เกียรติคนอื่น
การรู้จักให้เกียรติซึ่งกันและกันในการทำงาน บางทีอาจช่วยลดปัญหาภายในองค์กรได้ และทำให้คนทำงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น คนที่ให้เกียรติคนอื่นเป็นมักเป็นคนที่ควบคุมอารมณ์ได้ดี HR อาจจะสังเกตเรื่องนี้ให้ดีจากการสัมภาษณ์งาน อาจลองเตรียมสถานการณ์หรือคำถามที่มีแนวโน้มก่อให้เกิดความไม่พอใจได้ แล้วสังเกตพฤติกรรมที่เกิดขึ้น แต่ควรอยู่บนพื้นฐานที่ฝ่าย HR ต้องไม่สร้างสถานการณ์จนเกินพอดี หรือก้าวก่ายผู้สมัครจนไม่เหมาะสม
7.ไม่เห็นแก่ตัว ชอบช่วยเหลือผู้อื่น
ไม่มีใครชอบทำงานกับคนที่เห็นแก่ตัว ไม่ชอบช่วยเหลือคนอื่น โดยเฉพาะบริษัทที่ระบบการทำงานแบบทีมเป็นสิ่งสำคัญ สิ่งหนึ่งที่ฝ่าย HR จะสังเกตได้เบื้องต้นนั้นก็คือการร่วมกิจกรรมอื่นๆ นอกเหนืองานของตัวเอง สามารถใช้ทดสอบในเรื่องความเห็นแก่ตัวได้ก็คือการเจรจาเรื่องเงินเดือน ผลประโยชน์ ตลอดจนสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของตำแหน่งงานนั้นๆ คนเห็นแก่ตัวมักจะเอาประโยชน์ของตนเป็นหลัก และไม่ยอมเสียประโยชน์ใดๆ ที่ไม่คุ้มค่า คนกลุ่มนี้อาจมีการเจรจาเรียกร้องผลประโยชน์ให้ได้มากที่สุด โดยอาจเปรียบเทียบกับบริษัทอื่น หรือต่อรองผลประโยชน์จนเกินพอดี ยื้อการเจรจาแบบไม่สมเหตุสมผล แต่กรณีนี้ฝ่าย HR อาจต้องประเมินให้ดี มองให้เป็น ว่านี่คือความเห็นแก่ตัวหรือการรักษาผลประโยชน์ของผู้สมัครที่เป็นสิทธิที่เหมาะสม
8.จริงใจ ไม่โกหก
สำคัญที่สุดสำหรับการคัดเลือกพนักงาน คนที่เริ่มต้นด้วยความโกหก มักต่อยอดความโกหกในการทำงานด้วย หรือปกปิดข้อมูลบางอย่างที่อาจทำให้บริษัทได้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เกิดความเสียหายได้ในที่สุด อาจเป็นสิ่งที่ฝ่าย HR เช็คได้ยากที่สุด แต่ก็ควรเป็นสิ่งที่ฝ่าย HR ควรใส่ใจที่สุด ละเอียดรอบคอบ ตั้งแต่การตรวจเอกสาร, การสังเกตพฤติกรรมการพูด, การตั้งคำถามเพื่อเช็คข้อมูล, หรือแม้แต่การเช็คข้อมูลในอดีตจากบริษัทก่อนๆ ล้วนแล้วแต่ช่วยเหลือในเบื้องต้นได้ทั้งสิ้น
ที่มา hrnote