กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ Provident Fun (PVD) เป็นกองทุนที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้นด้วยความสมัครใจทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อเป็นแนวทางให้ลูกจ้างมีเงินออมไว้ใช้จ่ายเมื่อออกจากงาน เกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือลูกจ้างเสียชีวิตแล้วเป็นหลักประกันให้แก่ครอบครัว
สมาชิกจะได้รับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพคืนเมื่อสิ้นสมาชิกภาพ คือ ออกจากงาน เกษียณอายุ โอนย้ายกองทุน และเสียชีวิต โดยจะได้รับส่วนของเงินสะสมเต็มจำนวน พร้อมผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากเงินสะสม ส่วนเงินสมทบและผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากเงินสมทบ จะได้รับตามเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาการทำงานและการเป็นสมาชิกกองทุน
เงินของสมาชิก แบ่งเป็น 4 ส่วน คือ
• เงินสะสม เป็นเงินที่สมาชิกนำส่งเข้ากองทุน ซึ่งกฎหมายกำหนดให้สะสมได้ตั้งแต่ 2 – 15% ของเงินเดือน
• เงินสมทบ เป็นเงินที่นายจ้างนำส่งให้สมาชิก ซึ่งกฎหมายกำหนดให้สมทบในอัตราที่ไม่ต่ำกว่าเงินสะสมของลูกจ้าง
• ผลประโยชน์ของเงินสะสม
• ผลประโยชน์ของเงินสมทบ
โดยผลประโยชน์ของเงินสะสม และผลประโยชน์ของเงินสมทบนั้น เกิดจากเงินสะสมและเงินสมทบที่นำไปบริหารจัดการโดยบริษัทจัดการ หรือ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่นำเงินไปลงทุนในตราสารทางการเงินประเภทต่างๆ เพื่อสร้างดอกผลให้กับกองทุน แล้วนำดอกผลที่เกิดขึ้นมาเฉลี่ยคืนให้กับสมาชิกตามสัดส่วนของเงินที่แต่ละคนมีอยู่ในกองทุน
ประโยชน์ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ประโยชน์ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สำหรับสมาชิก
• สร้างวินัยการออมอย่างสม่ำเสมอ
• เหมือนได้เงินเพิ่มพิเศษจากเงินสบทบที่นายจ้างจ่ายให้
• มีมืออาชีพช่วยบริหารเงินออมให้ได้ผลประโยชน์เพิ่มเติม
• สามารถนำเงินสะสมที่นำส่งในแต่ละปีไปใช้หักภาษีซึ่งลดหย่อนสูงสุดปีละ 500,000 บาท แต่ไม่เกิน 15% ของค่าจ้าง
• รายได้จากการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เช่น ดอกเบี้ย เงินกำไร หรือเงินผลประโยชน์จะได้รับการยกเว้นภาษี
• เงินก้อนที่ได้รับจากกองทุนจะได้รับการยกเว้นภาษี กรณีที่อายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต
ประโยชน์ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สำหรับนายจ้าง
• ลดภาระภาษี เพราะเงินสมทบที่จ่ายเข้ากองทุนถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของค่าจ้างพนักงานแต่ละราย
• เป็นสวัสดิการที่ดึงดูดให้พนักงานคุณภาพเข้ามาร่วมงาน ได้เปรียบบริษัทที่ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
• ประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานดีขึ้น เพราะเมื่อมีเงินสำรองยามเกษียณจะทำให้พนักงานผูกพันธ์กับองค์กร และอยากอยู่ร่วมงานนานๆ
• เงินสมทบกองทุนถือเป็นเงินออมประเภทหนึ่งซึ่งมีส่วนช่วยในการพัฒนาประเทศ ทำให้พนักงานเข้าสู่วัยเกษียณอย่างมีคุณภาพ สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้โดยไม่เป็นภาระสังคม
จัดการเงินสำรองเลี้ยงชีพเมื่อลาออก
1.ขอรับเงินกองทุนทั้งก้อน โดยเป็นการลาออกจากระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
สมาชิกจะต้องตรวจสอบเงินทั้ง 4 ส่วน คือ ความถูกต้องของเงินสะสม เงื่อนไขการยกเว้นภาษีของผลประโยชน์เงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์เงินสมทบ ซึ่งโดยปกติเงิน 3 ส่วนหลังจะได้รับการยกเว้นภาษีทั้งจำนวนเมื่อสมาชิกออกจากงานโดยมีอายุ 55 ปีบริบูรณ์ และเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่น้อยกว่า 5 ปี
2.ยังไม่ขอรับเงินคืน โดยคงไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
สามารถคงเงินไว้ที่กองทุนเดิมได้ตามระยะเวลาที่กำหนดในข้อบังคับกองทุน และเงินที่คงไว้นั้นจะได้รับเงินผลประโยชน์จากการลงทุนต่อไปเรื่อยๆ แต่จะไม่ได้เงินสมทบจากนายจ้างเดิมนับจากวันที่พ้นสภาพการเป็นพนักงาน ทั้งนี้การคงเงินไว้นั้นเพื่ออำนวยประโยชน์ 2 กรณี คือ
• สำหรับรอโอนย้ายไปกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของนายจ้างใหม่
• สำหรับการโอนย้ายไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ซึ่งจะต้องเป็น RMF for PVD ในกรณีที่ที่ทำงานใหม่ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
โดยการโอนย้ายเงินกองทุนทั้ง 2 ทางนี้จะไม่เสียภาษีหรือค่าธรรมเนียมใดๆ และทำให้การลงทุนที่มีอยู่ได้ทำงานต่อย่างอเนื่อง ตามแผนการออมระยะยาวที่วางไว้
การเลื่อนส่งเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในสถานการณ์ COVID-19
จากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจสำหรับนายจ้างและลูกจ้าง จึงมีประกาศกระทรวงการคลัง ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563 เรื่อง กำหนดประเภทธุรกิจ ระยะเวลา และเงื่อนไขให้ลูกจ้างหรือนายจ้างหยุดหรือเลื่อนการส่งเงินสะสม หรือเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพในท้องที่ที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ สาธารณภัย หรือเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ
ข้อ 1 ให้ลูกจ้างหรือนายจ้างที่ได้รับผลกระทบด้านฐานะการเงินจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สามารถหยุดหรือเลื่อนการส่งเงินสะสมหรือเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้เป็นการชั่วคราว
ตั้งแต่งวดนำส่งเงินปัจจุบัน จนถึงงวดนำส่งเงินของเดือนธันวาคม 2563 โดยฝ่ายลูกจ้าง และนายจ้างที่ไม่ได้นำส่งเงินสะสมหรือเงินสมทบในช่วงนี้ให้ถือว่าสถานภาพยังคงอยู่ และนับต่อเนื่องไปได้
ในกรณีนายจ้างหยุดหรือเลื่อนการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามวรรคหนึ่ง หากลูกจ้างรายใดประสงค์จะส่งเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็สามารถดำเนินการได้ โดยนายจ้างจะส่งเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้แก่ลูกจ้างรายนั้นหรือไม่ก็ได้
ข้อ 2 การหยุดหรือเลื่อนการนำส่งเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นการชั่วคราว จะต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่สมาชิก โดยคะแนนเสียงที่ใช้เป็นมติที่ประชุมนั้นจะต้องเป็นไปตามที่กำหนดในข้อบังคับกองทุน หรือต้องไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกที่เข้าร่วมประชุม
หากไม่ได้กำหนดในข้อบังคับกองทุนและในกรณีที่ไม่สามารถจัดประชุมใหญ่สมาชิกได้ ให้กรรมการในคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ความเห็นชอบด้วยมติเอกฉันท์ให้หยุดหรือเลื่อนส่งเงินสะสม หรือเงินสมทบเป็นการชั่วคราว
สำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ประกอบด้วยนายจ้างหลายราย (Pooled Fund) ให้ใช้มติที่ประชุมของสมาชิกของนายจ้างรายนั้นๆ หรือมติคณะกรรมการกองทุนนายจ้างรายนั้นๆ เป็นเกณฑ์
ข้อ 3 ให้นายจ้างหรือคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแจ้งการขอหยุดหรือเลื่อนการส่งเงินสะสมหรือเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่อนายทะเบียนพร้อมเอกสาร ดังนี้
(1) หนังสือรับรองจากนายจ้างซึ่งรับรองว่ามีปัญหาในการดาเนินกิจการอันเนื่องมาจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และมีปัญหาฐานะการเงินจริงโดยมีกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันนายจ้างรายนั้น ๆ เป็นผู้ลงลายมือชื่อ และ หน้า 13 เล่ม 137 ตอนพิเศษ 107 ง ราชกิจจานุเบกษา 5 พฤษภาคม 2563
(2) รายงานการประชุมใหญ่สมาชิก หรือรายงานการประชุมคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งอย่างน้อยต้องมีรายงานว่า นายจ้างมีปัญหาในการดำเนินกิจการอันเนื่องมาจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และมีปัญหาฐานะการเงินจริง และมีมติที่ระบุรายละเอียดว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะให้มีการหยุดหรือเลื่อนส่งเงินสะสมหรือเงินสมทบเป็นการชั่วคราวถึงเมื่อใด (ไม่เกินงวดนำส่งเงินของเดือนธันวาคม 2563)
ข้อ 4 เมื่อลูกจ้างและนายจ้างจะส่งเงินสะสมและเงินสมทบตามข้อ 1 เข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่อไป ให้แจ้งนายทะเบียนทราบ
ข้อ 5 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ที่มา ธรรมนิติ