การเลือกสรรลูกจ้างเข้าทำงานในบริษัทมีกระบวนการและหลักเกณฑ์การคัดเลือกที่แตกต่างกันตามรูปแบบบริษัทและตำแหน่งงาน เมื่อทั้งสองฝ่ายต่างตกลงร่วมงานกันแล้ว การพิสูจน์ความสามารถของลูกจ้างด้วยการกำหนดระยะเวลาทดลองงาน จึงเป็นทางเลือกที่บริษัทส่วนใหญ่เลือกใช้
การทดลองงาน คือ การที่นายจ้างได้ตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานแล้ว แต่เพื่อพิสูจน์ความรู้ความสามารถ ทักษะการทำงานในตำแหน่งนั้นๆ รวมถึงการปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมองค์กร กฎระเบียบ สภาพแวดล้อม และเพื่อนร่วมงาน นายจ้างจะกำหนดระยะเวลาให้ลูกจ้างได้ทดลองทำงานก่อน โดยเรียกว่า ช่วงทดลองงาน หรือ Probation หรือ Probationary Period หากลูกจ้างปฏิบัติตนผ่านเกณฑ์มาตรฐานจึงบรรจุเป็นลูกจ้างจริง
หากไม่ผ่านการทดลองงานมีสิทธิได้รับค่าชดเชย หรือต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่นั้น มีทั้งได้ และไม่ได้
- กรณีมีสิทธิได้รับค่าชดเชย จะต้องมีการทดลองงานครบ 120 วัน ตามความเป็นจริง เช่น สัญญาจ้างทั่วไปมักกำหนดว่าทดลองงาน 119 วัน เช่นนี้ถ้ามีการแจ้งว่าไม่ผ่านการทดลองในวันที่ 119 ก็เท่ากับว่ามีการทดลองงานไม่ครบ 120 วัน จึงไม่มีสิทธิได้ค่าชดเชย
- ค่าชดเชยจ่ายตอนเลิกจ้าง ไม่ผ่านการทดลองงานก็เป็นการเลิกจ้าง ประเด็นนี้เคยมีคำพิพาษาซึ่งศาลพิพากษาว่า การเลิกจ้างตามมาตรานี้หมายความว่า การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไป และไม่จ่ายค่าจ้างให้ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด และหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงาน และไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป การที่นายจ้างให้ลูกจ้างพ้นจากการเป็นพนักงานแม้จะเป็นเพราะโจทก์ไม่ผ่านการทดลองงาน ก็ถือว่าเป็นการเลิกจ้าง
- ไม่ผ่านการทดลองงาน นายจ้างต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่ สัญญาที่ไม่มีกำหนดเวลาแน่นอนจะต้องมีการบอกกล่าวล่วงหน้า สัญญาทดลองงานมาตรา 17 วรรคสองกำหนดว่า เป็นสัญญาที่ไม่มีกำหนดเวลาแน่นอน หากจะมีการเลิกจ้างจะต้องมีการบอกกล่าวล่วงหน้าเพราะแม้ส่วนใหญ่ จะทดลองงานกัน 119 วัน แต่สัญญาทดลองงานจะมีเงื่อนไขว่า "ถ้าผ่านการทดลองงานจะจ้างต่อ ถ้าไม่ผ่านการทดลองงานจะไม่จ้าง" ด้วยเงื่อนไขนี้จะทำให้ระยะเวลา 119 เป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนขึ้นมา การบอกกล่าวล่วงหน้าจะต้องมีระยะเวลาการจ่ายค่าจ้าง 1 รอบคั่นกลาง ตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับนายจ้างและฝ่ายบุคคลจะวางแผนจ่ายค่าจ้างรอบละกี่วันครั้ง
- ไม่ผ่านการทดลองงาน เป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมหรือไม่ ถ้าเหตุแห่งการไม่ผ่านการทดลองงานเกิดจากการหย่อนสมรรถภาพในการทำงาน สามารถเลิกจ้างได้ เป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม แต่หลักฐานต้องแน่น นายจ้างควรทำแบบประเมินที่ควรอยู่บนพื้นฐานดังนี้
ก) ไม่เลือกปฎิบัติ แต่ใช้แบบฟอร์มนี้กับทุกคน
ข) คนประเมิน ควรเป็นคณะกรรมการ อย่าใช้คนเดียว อย่าเอาคนที่มีส่วนได้เสีย เอาคนทะเลาะมาประเมิน
ค) หัวข้อการประเมินควรเป็นเรื่องประสิทธิภาพในการทำงาน ความประพฤติปฎิบัติในการทำงาน การเข้ากับเพื่อนร่วมงาน สำคัญที่สุดควรทำให้หัวข้อมีความเป็นวิทยาศาสตร์ มีจำนวน เช่น จำนวนวันลา จำนวนผลงานที่ทำได้ จำนวนผลงานที่ทำผิดพลาด
หากการไม่ผ่านการทดลองงานไม่มีเหตุผลประกอบ หรือเกิดจากการกลั่นแกล้ง หรือความมีอคติ ก็อาจเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ลูกจ้างฟ้องคดีต่อศาลแรงงาน ซึ่งหากศาลเห็นว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ศาลก็อาจกำหนดค่าเสียหายให้ หรืออาจสั่งให้รับลูกจ้างกลับเข้าทำงานได้
ที่มา กฎหมายแรงงาน