สำนักงานในอาคารสมัยใหม่ ส่วนใหญ่ใช้ระบบปรับอากาศขนาดใหญ่ ไม่มีหน้าต่างหรือช่องระบายอากาศ แค่มีเพื่อนร่วมงาน 1 คนจามสนั่นฟลอร์ คุณเองก็ร้อนๆ หนาวๆ ว่าอาจจะป่วยตามกัน
อากาศที่ทำให้เกิดความไม่สบาย เป็นหนึ่งใน Sick Building Syndrome หรืออาการเจ็บป่วยที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมในที่ทำงานหรืออาคาร สามารถจัดอยู่ใน Work Syndrome หรือกลุ่มอาการที่เกิดจากการทำงาน แต่ก็ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นปัจจัยเดียวที่ทำให้เจ็บป่วยได้ แต่ก็ใช่ว่าควรจะละเลย
สำรวจระบบปรับอากาศ
เมื่อไหร่ก็ตามที่เราต้องหายใจเอาอากาศเข้าไป สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือ ต้องเป็นอากาศที่บริสุทธิ์ (Clean Air) แต่สำนักงานที่เราพบเห็นหรือทำงานเป็นประจำทุกวัน จำนวนไม่น้อยถูกออกแบบให้เป็นระบบประหยัดพลังงาน ใช้หลักการพลังงานมาตรฐาน คือ ใช้เครื่องปรับอากาศจากส่วนกลางเท่านั้น ไม่มีที่ระบายอากาศ แทบไม่มีหน้าต่าง หรือบางแห่งก็ไม่สามารถเปิดหน้าต่างได้เลย เมื่อไหร่ก็ตามที่ระบบระบายอากาศจากส่วนกลางมีปัญหาก็จะเกิดปัญหาตามมาอย่างแน่นอน
สำรวจอุปกรณ์ที่ทำให้เกิดฝุ่นควัน
มีสารเคมีกระจายในที่ทำงานจำนวนมาก ซึ่งสามารถรวมถึงฝุ่นควันจากอุปกรณ์สำนักงาน ตัวอย่างเช่น เครื่องถ่ายเอกสาร เลเซอร์พรินเตอร์ ที่จะมีละอองคาร์บอนออกมา อาจก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจได้ รวมถึงเป็นสารก่อมะเร็ง
สำรวจเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้
โดยเฉพาะเฟอร์นิเจอร์ใหม่ จะมีสาร Volatile Organic Compounds หรือ VOCs ที่เป็นสารอินทรีย์ที่ระเหิดออกมาจากวัสดุต่างๆ ของเฟอร์นิเจอร์สำนักงาน จัดเป็นอากาศพิษ (Toxic Air) ซึ่งสารที่เราได้ยินบ่อย ได้แก่ ฟอร์มัลดีไฮด์ (Formaldyhyde) สารระคายเคืองและสารก่อมะเร็งที่อยู่ในสีของผนังกั้นโต๊ะ แม้แต่กาวรองพรมก็มีสารเหล่านี้ระเหิดออกมาได้เหมือนกัน โดยเฉพาะสำนักงานที่เพิ่งปรับปรุงหรือสร้างใหม่ เป็นกรณีเดียวกับที่หลายคนมักพูดถึงกลิ่นใหม่ของรถยนต์ใหม่ (New Car Odor หรือ New Car Smell) หากร่างกายได้รับสารพิษนี้มากก็อาจจะระคายเคืองตา คันตา แสบจมูกได้ แม้แต่คนที่ไม่ไวต่อสารดังกล่าว เมื่อได้รับสารเป็นปริมาณมาก ก็ส่งผลได้เช่นเดียวกัน
สภาวะแวดล้อมในที่ทำงานสำคัญมากสำหรับสุขภาพของคนที่ทำงาน ดังนั้น จึงควรลงทุนเพื่อการปรับสภาวะแวดล้อมให้ดีขึ้น โดยเฉพาะระบบระบายอากาศที่ดีมีประสิทธิภาพ อาจเป็นการลงทุนที่สูง แต่ก็นับว่าคุ้มค่าหากเปรียบเทียบกับความเจ็บป่วยของพนักงาน ที่ทำให้งานมีประ-สิทธิภาพลดลง รวมถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในระยะยาว
ที่มา Sanook.com