สวัสดิการ สิ่งที่ HRส่วนใหญ่ ลืมให้ความสำคัญ

                 ปัจจัยสำคัญในการดึงดูดและเก็บรักษาพนักงานให้ทำงานกับองค์กร นอกจากค่าจ้างเงินเดือนแล้ว เรื่องของสวัสดิการก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน องค์กรที่มีระบบการบริหารค่าจ้างและการบริหารสวัสดิการที่ดีจะเป็นองค์กรที่มีแรงดึงดูดให้พนักงาน อยากเข้ามาทำงานด้วยอย่างมาก เพราะพนักงานจะรู้สึกถึงความมั่นคงในชีวิตและความเป็นอยู่ของเขามากขึ้น เนื่องจากลำพังแค่เงินเดือนค่าจ้างเพียงอย่างเดียวนั้น มันอาจจะไม่เพียงพอสำหรับการดำรงชีวิตในยุคนี้
                 จากแนวโน้มของการบริหารค่าจ้างและสวัสดิการที่สำรวจทุกปี จาก Think People Consulting Compensation and Benefits Survey นั้นก็เห็นแนวโน้มที่ชัดเจนว่า องค์กรที่มีการจัดสวัสดิการที่นอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดไว้นั้นจะเป็นองค์กรที่พนักงานอยากเข้าไปทำงานด้วย ซึ่งก็จะทำให้องค์กรเหล่านี้ มีโอกาสได้คนเก่งเข้ามาทำงานมากขึ้น สำหรับองค์กรที่เริ่มมีความคิดว่าจะจัดสวัสดิการที่ดีให้กับพนักงาน ก็เริ่มมีคำถามว่าแล้วองค์กรเราควรมีสวัสดิการด้านไหน ให้กับพนักงานบ้าง ผมขอให้แนวทางที่เข้าใจง่ายๆ ไว้ดังนี้ คือ เจ็บ จน แก่ ตาย อ่านแล้วอาจจะดูน่ากลัว แต่ก็น่าจะทำให้จำได้ง่ายขึ้น โดยขอแยกรายละเอียดประเภทสวัสดิการไว้ดังนี้ 

เจ็บ สวัสดิการด้านนี้ก็คือ เรื่องของสวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของพนักงาน ที่เป็นลักษณะของการดูแลความเจ็บไข้ได้ป่วย ของพนักงานในองค์กร ทุกองค์กรมีสวัสดิการประกันสังคมให้กับพนักงานเป็นพื้นฐาน แต่องค์กรที่จัดสวัสดิการด้านนี้ เพิ่มเติมให้กับพนักงานก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ อาทิ

  • ให้งบประมาณในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเติมจากประกันสังคม ในกรณีผู้ป่วยนอก
  • ซื้อประกันสุขภาพให้กับพนักงาน โดยครอบคลุมทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน
  • จัดสวัสดิการป้องกันการเจ็บป่วย อาทิ การออกกำลังกาย ฟิตเนส ฯลฯ


จน  สวัสดิการด้านนี้ก็คือ การช่วยเหลือเมื่อพนักงานเกิดปัญหาทางด้านเศรษฐกิจของตนเอง อาทิ เมื่อเกิดปัญหาฉุกเฉินต่างๆ เช่น การเกิดภัยพิบัติทั้งทางธรรมชาติและเหตุสุดวิสัย จนทำให้พนักงานไม่สามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ เนื่องจากขาดที่อยู่อาศัย ขาดเงินทุนบางส่วน ในกรณีแบบนี้องค์กรก็สามารถจัดสวัสดิการที่ตอบโจทย์เหล่านี้ของพนักงานได้เช่นกัน อาทิ

  • เงินกู้ฉุกเฉินให้กับพนักงานในกรณีที่เกิดภัยพิบัติขึ้น โดยไม่คิดดอกเบี้ยใดๆ
  • บางองค์กรมีการไปทำข้อตกลงกับทางธนาคาร เพื่อขอลดอัตราดอกเบี้ยลง ในกรณีที่พนักงานขององค์กรเข้ามากู้เงินเพื่อ
    ซื้อที่อยู่อาศัย เป็นต้น
  • สวัสดิการทุนการศึกษาบุตรพนักงาน


แก่ สวัสดิการด้านนี้ก็คือ เมื่อพนักงานมีอายุมากขึ้นหรือเมื่อถึงวัยเกษียณ องค์กรมีการจัดสวัสดิการเพิ่มเติมให้พนักงาน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าพนักงานจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ตามปกติสุขเมื่อถึงวัยเกษียณอายุ ซึ่งบางแห่งอาจจะมีการจัดสวัสดิการให้กับครอบครัว (พ่อแม่ พนักงาน) ที่มีอายุมากๆ บางองค์กรก็มีสวัสดิการช่วยเหลือให้ อาทิ

  • เงินบำเหน็จ หรือบำนาญ ที่คำนวณต่างหากจากเงินกองทุกสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมาย
  • เกษียณอายุเงินเพิ่มพิเศษในกรณีเกษียณอายุ โดยคำนวณเพิ่มพิเศษให้ตามจำนวนปีที่ทำงานกับองค์กร และบวกเพิ่มเข้าไปกับเงิน
  • ประกันชีวิตที่ครอบคลุมไปจนถึงวันที่เสียชีวิต


ตาย เป็นสวัสดิการในกรณีที่พนักงานเสียชีวิตในระหว่างที่ทำงานอยู่กับองค์กร ซึ่งองค์กรจัดให้มีเพื่อเป็นการช่วยเหลือครอบครัวของพนักงานเพื่อให้พอที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน และต้องปรับตัวใหม่ อาทิ

  • ประกันชีวิตให้กับพนักงาน ครอบครัวก็จะได้เงินสินไหมทดแทนไป
  • เงินก้อนพิเศษให้กับครอบครัวของพนักงาน
  • การจัดงานศพให้พนักงาน


                 รูปแบบสวัสดิการที่กล่าวไปข้างต้น ถือว่าเป็นสวัสดิการที่ครอบคลุมชีวิตและความเป็นอยู่ของพนักงานในสภาพปกติที่ควรจะเป็น ดังนั้นถ้าองค์กรต้องการจัดสวัสดิการเพิ่มเติมให้กับพนักงาน ก็สามารถลองนำเอาแนวทางข้างต้นไปปรับและออกแบบรูปแบบสวัสดิการพนักงาน ให้สอดคล้องกับช่วงชีวิตและความเป็นอยู่ของพนักงานในองค์กรได้

 

นอกจากนี้ไปดูสวัสดิการที่ไม่ถือเป็นเงินได้ของพนักงาน ว่ามีสวัสดิการอะไรกันบ้าง ไปดูกัน

  1. เงินช่วยค่าคลอดบุตร
  2. เงินค่าช่วยเหลืองานแต่ง งานบวช และงานศพ
  3. ซื้อกระเช้าเยี่ยมพนักงานป่วย
  4. จัดที่พักให้พนักงานที่ทำงานดึก
  5. จัดรถรับส่งพนักงาน
  6. รถประจำตำแหน่ง
  7. เครื่องแบบพนักงาน
  8. เงินบำเหน็จให้แก่ทายาทพนักงานถึงแก่กรรม
  9. ให้ทุนการศึกษาแก่พนักงาน (มีสัญญาให้กลับมาทำงานต่อ)
  10. รายจ่ายเพื่อการศึกษา หรือฝึกอบรม
  11. ห้องพยาบาล อุปกรณ์พยาบาล
  12. ค่าห้องออกกำลังการพน้อมเทรนเนอร์
  13. สอนภาษาต่างประเทศในบริษัท

 

สวัสดิการที่กิจการที่ให้แก่พนักงานทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติ และ มีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนในระเบียบของกิจการ ถึงจะถือเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการประกอบกิจการสามารถนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวมารวมในการคำนวนภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ และมีสิทธินำภาษีซื้อมาหักจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้

บริษัทมีสวัสดิการให้กับพนักงานดังนี้

  • ค่ารักษาพยาบาล
  • ของขวัญเยี่ยมไข้พนักงาน เช่นพนักงานคลอด ป่วยเกิน 3 วัน
  • งานเลี้ยงปีใหม่และจับของรางวัล

ถือเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการประกอบกิจการสามารถนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวมารวมในการคำนวนภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ และมีสิทธินำภาษีซื้อมาหักจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้

โดยค่าใช้จ่ายสวัสดิการที่กิจการให้กับพนักงานสามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีเพื่อทำให้กิจการเสียภาษีน้อยลงได้ โดยทั่วไปแล้วสวัสดิการที่กรมสรรพากรอนุญาตให้นำมาเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้จะต้องเข้าเงื่อนไขต่อไปนี้

  • กิจการต้องระบุสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ของพนักงานไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของกิจการ โดยระบุไว้ในคู่มือพนักงาน
  • การให้สวัสดิการจะต้องให้กับพนักงานทุกคนทั่วไปโดยไม่ได้มีการเลือกปฏิบัติ


 

ที่มา 

สวัสดิการ" สิ่งที่ HR (ส่วนใหญ่) ลืมให้ความสำคัญ

สวัสดิการที่ไม่ถือเป็นเงินได้ของพนักงาน

สวัสดิการพนักงาน กับเรื่องของภาษี

สวัสดิการพนักงานที่เป็นค่าใช้จ่ายได้