รวมเรื่องน่ารู้ ... ประกันสุขภาพบิดามารดา

          จ่ายเบี้ยประกันสุขภาพของบิดา-มารดา คู่สมรส หักค่าลดหย่อนตามที่จ่ายจริงไม่เกิน  15,000 บาท  ตามข้อ 2 (76) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร และประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ฉบับที่ 162 ข้อ 1(5) กรณีสามีหรือภริยามีเงินได้ฝ่ายเดียว ให้สามีหรือภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามจำนวนเบี้ยประกันภัยที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินหนึ่งหมื่นห้าพันบาท   

          และสำหรับผู้มีเงินได้หลายคน เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ร่วมกันทำประกันสุขภาพสำหรับบิดามารดา ต้องเฉลี่ยค่าเบี้ยประกัน  โดยให้ผู้มีเงินได้ทุกคนได้รับยกเว้นภาษีเงินได้โดยเฉลี่ยเบี้ยประกันภัยที่ผู้มีเงินได้ร่วมกันจ่ายจริงแต่ไม่เกินหนึ่งหมื่นห้าพันบาท ตามส่วนจำนวนผู้มีเงินได้

 

ลักษณะการประกันสุขภาพบิดามารดาที่จะได้รับยกเว้นเงินได้ ต้องมีลักษณะ ดังนี้ 

  • การประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลอันเกิดจากการเจ็บป่วยและการบาดเจ็บ การชดเชยการทุพพลภาพและการสูญเสียอวัยวะ เนื่องจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ
  • การประกันภัยอุบัติเหตุเฉพาะที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล การทุพพลภาพ การสูญเสียอวัยวะ และการแตกหักของกระดูก
  • การประกันภัยโรคร้ายแรง (Critical Illnesses)
  • การประกันภัยการดูแลระยะยาว (Long Term Care)

 

เบี้ยประกันชีวิตแบบคุ้มครองสินเชื่อ หักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิตได้หรือไม่

          การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามข้อ 2(61) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ประกอบกับประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 172) ให้ยกเว้นเงินได้ที่ผู้มีเงินได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตของผู้มีเงินได้ เฉพาะกรณีที่กรมธรรม์ประกันชีวิตมีกำหนดเวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และเป็นการประกันชีวิตที่ได้เอาประกันไว้กับผู้รับประกันภัยที่ประกอบกิจการในราชอาณาจักรเท่านั้น

          การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ผู้มีเงินได้ต้องมีหลักฐานจากผู้รับประกันภัยที่พิสูจน์ได้ว่า มีการจ่ายเบี้ยประกันชีวิต และกรณีกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองอื่นเพิ่มเติม หลักฐานต้องระบุจำนวนเบี้ยประกันชีวิต และเบี้ยประกันภัยที่จ่ายสำหรับความคุ้มครองอื่นเพิ่มเติมแยกออกจากกัน หากผู้รับประกันภัยไม่ได้แยกจำนวนเงิน ให้นำหลักฐานดังกล่าวไปให้ผู้รับประกันภัยแยกจำนวนเงินให้ชัดเจน มิฉะนั้นจะนำมาเป็นหลักฐานในการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่ได้ 

 

 

ที่มา กรมสรรพากร