จ้างบริษัทตัวเอง มารับงานบริษัทนายจ้าง ผลประโยชน์ทับซ้อน ถูกเลิกจ้างได้

 

          ผลประโยชน์ทับซ้อนหรือ Double-dipping เป็นสถานการณ์ที่บุคลากรหรือพนักงานใดๆ มีการรับผลประโยชน์หลายรอบหรือหลายแหล่งจากองค์กรเดียวกันในระยะเวลาที่เกิดทับซ้อนกัน ซึ่งนั่นอาจก่อให้เกิดปัญหาและข้อขัดแย้งในด้านกฎหมายและจรรยาบรรณ

          การอาศัยโอกาสที่ทำหน้าที่อยู่ แล้วเอื้อประโยชน์แก่ตนเอง พวกพ้องหรือบริวาร เพื่อให้ได้ไปซึ่งประโยชน์ ถือเป็นความผิดฐานทุจริต

          เคยมีคดีที่ลูกจ้างทำงานในตำแหน่งผู้จัดการโรงงาน มีหน้าที่ควบคุมดูแลกระบวนการผลิตคุณภาพสินค้า และ "ปรับปรุงอาคารสำนักงาน" ของนายจ้าง อาศัยโอกาสที่ตนเป็นผู้จัดการว่าจ้างบริษัทภายนอกให้มาทำการก่อสร้างอาคารโรงงานให้แก่นายจ้าง โดยแจ้งต่อกรรมการว่าเป็นบริษัทคนรัก(บริษัทแฟน) แต่ความจริงแล้วลูกจ้างเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทดังกล่าว  การปกปิดข้อมูลข้างต้นจึงเป็นการปกปิดสาระสำคัญ เพราะผลประโยชน์ของลูกจ้างที่มีต่อบริษัทดังกล่าว กับของบริษัทนายจ้างในการประหยัดงบประมาณและได้ผลงานดีที่สุดจากบริษัทก่อสร้างดังกล่าวย่อมขัดกัน หากบริษัทนายจ้างทราบความจริงก็อาจไม่ไว้วางจและไม่ตกลงว่าจ้างบริษัทดังกล่าว จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนเองโดยอาศัยโอกาสที่ทำงานกับบริษัทนายจ้าง ย่อมเป็นการไม่ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ถือเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ ตามมาตรา 119(1)
นายจ้างจึงเลิกจ้างลูกจ้างได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย


ที่มา คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 56/2561

ที่มา กฎหมายแรงงาน