ค่าครองชีพเป็นค่าจ้างหรือไม่ ?
มีปัญหาว่านายจ้างจ่ายค่าครองชีพให้กับพนักงานทุกคน ตามข้อตกลงสภาพจ้างเพื่อสวัสดิการช่วยเหลือพนักงานในเรื่อง ค่าใช้จ่ายด้านอุปโภค บริโภค ค่าน้ำมันรถ ที่ปรับตัวสูงขึ้นและบรรเทาในการดำรงชีพ
แต่นายจ้างมักอ้างว่าเงินดังกล่าวไม่ใช่ค่าจ้างที่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงาน และเงินค่าครองชีพหากไม่ใช่ค่าจ้างก็จะไม่เป็นฐานในการคำนวณเงินต่างๆ เช่น ค่าทำงานในวันหยุด ค่าทำงานล่วงเวลาในวันหยุด กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โบนัส เงินประกันสังคมและการปรับค่าจ้าง
การต่อสู้ว่าเงินที่นายจ้างจ่ายแต่ละรายการเป็นค่าจ้างหรือไม่ จึงเป็นเรื่องหนึ่งที่มีการต่อสู้กันมาตลอด
ศาลเคยตัดสินว่านายจ้างจ่ายค่าครองชีพให้ลูกจ้างมีกำหนดจ่ายเป็นรายเดือนทุกเดือนตลอดมา โดยไม่ปรากฎชัดว่าเหตุที่นายจ้างจ่ายค่าครองชีพให้แก่ลูกจ้างเกี่ยวข้องกับภาระค่าครองชีพโดยเฉพาะ หรือเป็นเงินที่จ่ายเพื่อช่วยเหลืออื่นใด ค่าครองชีพดังกล่าวที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างจึงเป็นการจ่ายเพื่อการตอบแทนการทำงานเป็นเวลาทำงานปกติของวันทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน ถือเป็นค่าจ้าง
ข้อสังเกต
๑) จะเห็นว่าคดีนี้มีลักษณะการจ่ายที่ "แน่นอนทุกเดือน" โดยนายจ้างไม่ได้ขอดูใบเสร็จ หรือรายการจ่ายว่าจ่ายจริงกี่บาท
๒) รายการจ่ายจะปรากฎในสลิปเงินเดือนเท่าๆ กันทุกเดือน
๓) แอดมินเห็นว่าหลายคดีที่ศาลตัดสินทำนองนี้เกิดขึ้นจากการเห็นเจตนาที่นายจ้างพยายามกระจายฐานของค่าจ้างให้อยู่ในรายการต่างๆ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเล่าเรียนลูก ค่าครองชีพ เพื่อที่ว่าเมื่อมีการคำนวณเงินต่างๆ ที่ต้องใช้ฐานของค่าจ้างจะทำให้ยอดเงินที่นายจ้างต้องจ่ายไม่สูงมาก
๔) จากข้อ ๓) ก็มีข้อดีอยู่กล่าวคือ แม้นายจ้างจะเจตนากระจายฐานค่าจ้าง แต่การจ่ายเงินต่าง ๆ ช่วยเหลือก็ถือเป็นเจตนาที่ดี ซึ่งนายจ้างที่เจตนาดีและไม่ต้องการให้ฐานค่าจ้างผูกพันสูงมากเกินไป ก็ควรเน้นจ่ายตามความเป็นจริง หรือการที่ลูกจ้างต้องมีหลักฐานการเบิกจ่าย
ที่มา เพจกฎหมายแรงงาน คำพิพากษาฎีกาที่ 11425-12061/2558
01 February 2021
View
25,414