-
-
ข่าวสาร
-
HRM
-
ไล่ออก เพราะ ขอลดเงินเดือน แต่ลูกจ้างไม่ยินยอม เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม !!!
การลดเงินเดือนหรือเปลี่ยนเงินเดือนของลูกจ้างเป็นเรื่องที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายและนโยบายขององค์กรอย่างเป็นธรรมและเรียบร้อย การลดเงินเดือนหรือลดค่าจ้างนั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างเกี่ยวกับจำนวนค่าจ้างและเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เป็นคุณกับลูกจ้าง ตามหลักกฎหมายแล้วนายจ้างจะกระทำไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากลูกจ้างเสียก่อน ลูกจ้างมีสิทธิ์ “ยินยอม หรือ ไม่ยินยอมก็ได้” นายจ้างจะบีบบังคับไม่ได้
ถ้าลูกจ้างไม่ยินยอมให้ลด แต่นายจ้างยังยืนยันที่จะลดและจ่ายเงินเดือนไม่ครบถ้วน ลูกจ้างสามารถไปเรียกร้องสิทธิ์ได้ที่กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงานในเขตพื้นที่ตนทำงานอยู่หรือฟ้องร้องต่อศาลได้ และหากในกรณีที่ลูกจ้างไม่ยินยอมให้ลดเงินเดือน แต่นายจ้างกลับไล่ออกเลย ถือว่าเป็นการไล่ออกโดยที่ลูกจ้างไม่มีความผิด ลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยตามอายุการทำงาน สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือค่าตกใจ ขึ้นอยู่กับกรณีว่านายจ้างให้ออกทันทีหรือมีการแจ้งล่วงหน้าหรือไม่ หากนายจ้างมีการแจ้งล่วงหน้า ไม่น้อยกว่า 1 งวดการจ่ายค่าจ้างนายจ้างก็ไม่ต้องจ่ายค่าตกใจ รวมถึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
กรณีถูกลดเงินเดือนแล้วลูกจ้างไม่คัดค้าน เป็นระยะเวลานานพอสมควร ถือว่าลูกจ้างยินยอมให้เปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างโดยปริยาย คำว่า “เวลานานพอสมควรถือว่ายินยอมโดยปริยาย” ไม่มีข้อกฎหมายบัญญัติไว้โดยตรงต้องดูเป็นพฤติการณ์และรายกรณีไป
ในกรณีที่ธุรกิจมีสถานการณ์ สภาพเศรษฐกิจ เหตุจำเป็นที่จะต้องลดเงินเดือน อาจหาวิธีปรับใช้จะได้เป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย
- นายจ้างและลูกจ้างต้องคุยกันในเรื่องการปรับลดเงินเดือน แต่กำหนดระยะเวลาไว้ว่ากี่เดือนเพื่อที่จะได้ดูสถานการณ์ของบริษัทนายจ้างเองก็ได้ลดรายจ่ายลง ลูกจ้างเองก็จะได้ประเมินและประมาณการค่าใช้จ่ายได้ถูกต้อง
- ทำความตกลงกับลูกจ้างเกี่ยวกับการจ่ายเงินเดือนในส่วนที่เหลือเช่นเดือน เมษายนจ่าย 75% และ ในเดือน ถัดไปจะจ่ายในส่วนที่เหลือพร้อมดอกเบี้ย เป็นต้น
- หรืออีกวิธีนึงคือเมื่อลดเงินเดือนแล้วก็ควรลดวันทำงานด้วย ให้สัมพันธ์กันเพื่อที่ลูกจ้างจะได้ไม่ต้องเสียค่าเดินทางในการมาทำงาน
การดำเนินการในการลดเงินเดือนหรือการเปลี่ยนแปลงเงินเดือนควรทำได้อย่างสมเหตุสมผลและเป็นธรรม และควรปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานและนโยบายของบริษัทของคุณให้ถูกต้อง เพื่อป้องกันความขัดแย้งและความไม่เป็นธรรมในการจัดการกับลูกจ้าง
ที่มา คลินิกกฎหมายแรงงาน
29 August 2023
View
4,937