ไม่ใส่ใจดูแลสุขภาพ "หย่อนสมรรภาพ" เลิกจ้างได้

          เบื้องต้นต้องเข้าใจกติกาว่า นายจ้างจ่ายเงินเพื่อแลกกับแรงงาน หรืออีกนัยหนึ่งลูกจ้างต้องเอาแรงงานไปแล้วกับเงินค่าจ้าง สัญญาจ้างแรงงานซึ่งจะตกลงกันด้วยวาจา หรือเป็นลายลักษณ์อักษรก็ใช้ได้นั้นจึงเป็นข้อตกลงที่แฟร์ ๆ เพราะนายจ้างก็คงไม่ปรารถนาที่จะจ่ายเงิน แต่ไม่ได้แรงงานจากลูกจ้าง หรือกรณีลูกจ้างทำงานให้นายจ้างแล้ว นายจ้างก็ต้องจ่ายค่าจ้างตอบแทน จะอ้างว่าลาออกไม่ชอบ หรือทำงานไม่ครบเดือน หรือเลิกจ้างเพราะทำผิดจะไม่จ่ายไม่ได้ เพราะหลักการง่าย ๆ คือ เมื่อได้แรงงานไปแล้ว เงินต้องจ่ายมา

สัญญาจ้างแรงงานจึงเป็นอุปมาได้ดั่งการยื่นหมูยื่นแมว งานมาเงินไป, เงินไปงานมา

          แม้กฎหมายกำหนดให้ลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง และได้ค่าจ้างไม่เกิน 30 วัน ก็ตาม แต่การลาป่วยบ่อยๆก็เป็นเหตุให้นายจ้างนำมาเลิกจ้างได้เช่นกัน ดังนั้น การดูแลสุขภาพไม่ให้ป่วยบ่อยก็เป็นเรื่องสำคัญ การป่วยบ่อยในทางกฎหมายแรงงานเรียกว่า "หย่อนสมรรภาพ" ทางร่างกาย 

          กรณีที่ลูกจ้างมีปัญหาสุขภาพ มีอาการเจ็บป่วยมาโดยตลอด อีกทั้งการเจ็บป่วยก็ไม่ปรากฏว่าเกิดจากการทำงานให้กับนายจ้าง และนายจ้างยังมอบหมายให้ลูกจ้างทำงานอื่นๆที่ไม่กระทบกับอาการเจ็บป่วย เพื่อให้รักษาตัวอย่างเต็มที่ แต่กลับปรากฏว่าลูกจ้างใช้ชีวิตประจำวันแบบไม่รักษาสุขภาพตนเอง อันแสดงให้เห็นถึงความไม่ใส่ใจดูแลรักษาสุขภาพ นายจ้างไม่อาจคาดหมายได้ว่าลูกจ้างสามารถกลับมาทำงานตามปกติได้เมื่อใด การเลิกจ้างจึงเป็นไปตามระเบียบ ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน เป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม

 

ที่มา กฎหมายแรงงาน