สิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีผู้ประกันตนเสียชีวิต
กรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ชีวิตที่ไม่ใช่เหตุจากการทำงาน และจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 1 เดือน ภายในระยะเวลา 6 เดือน ก่อนเดือนที่เสียชีวิต สิทธิที่จะได้มีดังนี้คือ
1. เงินค่าทำศพ
เป็นเงินที่ประกันสังคมจ่ายเพื่อช่วยเหลือการจัดการศพของผู้ประกันตนเป็นจำนวน 50,000 บาท ให้กับผู้จัดการศพ ได้แก่
• บุคคลที่ผู้ประกันตนได้ทำหนังสือระบุให้เป็นผู้จัดการศพ และได้เป็นผู้จัดการศพผู้ประกันตน
• สามี ภรรยา บิดา มารดา หรือบุตร ของผู้ประกันตน ซึ่งมีหลักฐานแสดงว่าเป็นผู้จัดการศพผู้ประกันตน
• บุคคลอื่นที่มีหลักฐานแสดงว่าเป็นผู้จัดการศพผู้ประกันตน
เอกสารที่ใช้กรณีขอรับค่าทำศพ
• แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีตาย (สปส. 2-01)
• สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้จัดการศพพร้อมตัวจริง
• หลักฐานจากฌาปนสถาน หรือมัสยิดที่แสดงว่าเป็นผู้จัดการศพ
• สำเนาใบมรณบัตรพร้อมตัวจริง
• สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรก ซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชี (กรณีขอรับเงินทางธนาคาร) ผ่านทางบัญชีธนาคารของผู้จัดการศพ 11 ธนาคาร คือ ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารทหารไทย, ธนาคารธนชาต, ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย, ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย, ธนาคารออมสิน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
2. เงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย
เป็นเงินที่สำนักงานประกันสังคมจะจ่ายให้กับบุคคลที่ผู้ประกันตนได้ทำหนังสือระบุไว้เป็นลายลักษณ์อักษรให้เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์นั้น
แต่หากผู้ประกันตนไม่ได้ทำหนังสือระบุไว้ ทางสำนักงานประกันสังคมจะนำเงินสงเคราะห์นั้นมาเฉลี่ยจ่ายให้กับ สามีหรือภรรยา บิดา มารดา หรือบุตรของผู้ประกันตน ในจำนวนเท่าๆ กัน
*** เงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตายนั้นจะจ่ายตามจำนวนและระยะเวลาที่ผู้ประกันตนจ่ายสมทบไว้ ดังนี้
• ก่อนถึงแก่ความตายผู้ประกันตนส่งเงินสมทบตั้งแต่ 36 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 120 เดือน ประกันสังคมจะจ่ายเงินสงเคราะห์เป็นจำนวนเท่ากับค่าจ้างเฉลี่ย 2 เดือน
• ก่อนถึงแก่ความตายผู้ประกันตนส่งเงินสมทบตั้งแต่ 120 เดือนขึ้นไป ประกันสังคมจะจ่ายเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้างเฉลี่ย 6 เดือน
เอกสารที่ใช้กรณีขอรับเงินสงเคราะห์
• แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีตาย (สปส. 2-01)
• สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของผู้มีสิทธิรับเงินสงเคราะห์
• สำเนาทะเบียนสมรสของผู้ประกันตน และของบิดามารดาของผู้เสียชีวิต (ถ้ามี)
• สำเนาสูติบัตรของบุตร หรือสำเนาทะเบียนบ้านของบุตร กรณีไม่มีสูติบัตร
• หนังสือระบุให้เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์กรณีตาย (ถ้ามี)
นอกจากสิทธิประโยชน์ทดแทนที่ทายาทจะได้รับกรณีที่ผู้ประกันตนเสียชีวิตแล้ว ยังมีเงินที่ทายาทสามารถเบิกเพิ่มเติมได้คือ
เงินบำเหน็จชราภาพ ซึ่งสำนักงานประกันสังคมจะจ่ายให้กับผู้มีสิทธิรับผลประโยชน์ตามจำนวนและระยะเวลาการสบทมเงินประกันสังคมดังนี้
• ผู้ประกันตนเสียชีวิตก่อนอายุครบ 55 ปี และจ่ายเงินสมทบน้อยกว่า 12 เดือน ผู้รับประโยชน์จะได้ประโยชน์ทดแทนแบบบำเหน็จชราภาพ เป็นจำนวนเงินเท่ากับเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่ายไว้
• ผู้ประกันตนเสียชีวิตก่อนอายุครบ 55 ปี และจ่ายเงินสมทบมากกว่า 12 เดือน ผู้รับประโยชน์จะได้ประโยชน์ทดแทนแบบบำเหน็จชราภาพ เป็นจำนวนเงินเท่ากับเงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายไว้
• ผู้ประกันตนเสียชีวิตภายในระยะเวลา 5 ปี หลังรับสิทธิบำนาญชราภาพ ผู้รับประโยชน์จะได้ประโยชน์ทดแทนเป็นเงิน 10 เท่าของเงินบำนาญรายเดือน
ที่มา : dharmniti.com