หัวหน้างาน ออกใบเตือนให้ลูกน้องได้หรือไม่

สัญญาจ้างแรงงาน เป็นสัญญาระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ดังนั้น คนที่จะมีอำนาจบังคับตามสัญญาจ้างรวมทั้งให้คุณให้โทษ เช่น ขึ้นเงินเดือน เพิ่มสวัสดิการ ลดสวัสดิการ ออกใบเตือน หรือ ไล่ออก คือ นายจ้างนั่นเอง แล้วใครคือนายจ้างมาดูกัน

 ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ให้ความหมายนายจ้างไว้ว่า “นายจ้าง หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้และหมายความรวมถึง

  • ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนนายจ้าง
  • ในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคลให้หมายความรวมถึงผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลและผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลให้ทำการแทนด้วย”

 

          สัญญาจ้างแรงงานนั้น จึงเป็นข้อตกลงกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง โดยมักจะมีข้อความในสัญญาที่ตกลงกันว่านายจ้างเป็นคนที่จะมีอำนาจบังคับตามสัญญาจ้าง รวมทั้งมีอำนาจที่จะให้คุณให้โทษ เช่น ขึ้นเงินเดือน เพิ่มหรือลดสวัสดิการ รวมทั้งออกใบเตือน ให้ออกหรือไล่ออกก็ได้ทั้งนั้น 

          ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน นายจ้าง เป็นได้ทั้งคนที่ตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้และยังหมายถึงคนที่นายจ้างมอบหมายให้ทำงานแทนตัวนายจ้างเองอีกด้วย โดยเฉพาะกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคล นายจ้างจะหมายความรวมไปถึงผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลและผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลให้ทำการแทนอีกต่างหาก

          หากถามว่า แล้วฝ่ายบุคคลหรือ HR สามารถออกใบเตือนได้หรือไม่ โดยทั่วไปผู้บริหารของทาง HR ก็จะได้รับมอบอำนาจให้ทำการแทนในฐานะตัวแทนนายจ้าง จึงสามารถออกใบเตือนได้

          ผู้จัดการและหัวหน้างานนี่ต้องนับได้ว่าเป็นบุคลากรระดับบังคับบัญชาที่บริหารจัดการลูกน้องโดยต้องใช้ทั้งพระเดชและพระคุณผสมผสานกันไป และต้องทำเรื่องแบบนี้ให้เหมาะเจาะลงตัว และเรื่องการลงโทษลูกน้องที่ทำผิดระเบียบก็เป็นงานอีกอย่างหนึ่งที่หัวหน้างานต้องทำให้เป็น

 

ดังนั้น จึงพอสรุปได้ว่า นายจ้าง หมายถึง ผู้ที่ตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานและให้หมายความถึงผู้ที่ได้รับมอบหมายจากนายจ้างนั้นด้วย และ ถ้านายจ้างเป็นนิติบุคคล (บริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด) ให้หมายถึงกรรมการ (MD) ของบริษัทนั้น และ หมายความถึงผู้ที่ได้รับมอบหมายจาก MD นั้นด้วย ส่วนใหญ่ผู้ที่ได้รับมอบหมายจาก MD ก็จะเป็นผู้จัดการฝ่ายต่างๆนั่นเอง ดังนั้น คนที่มีอำนาจให้คุณให้โทษหรือออกใบเตือนลูกจ้าง ก็คือ MD หรือ ผู้ที่ได้รับมอบหมายจาก MD นั่นเอง หัวหน้างานไม่มีอำนาจออกใบเตือนลูกจ้าง

 

เทียบเคียงแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3344/2526 พนักงานในตำแหน่งหัวหน้าแผนกหรือผู้ช่วยผู้จัดการถ้าไมได้รับมอบอำนาจจากนายจ้างหรือผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลแล้ว ไม่มีอำนาจออกใบเตือน

หมายเหตุ แต่ในทางปฏิบัติก็คือหัวหน้าแผนกหรือหัวหน้างานเป็นผู้ออกใบเตือนให้ลูกจ้างแล้วนำไปให้ MD หรือ ผู้จัดการเซ็นอีกที ซึ่งแบบนี้ก็ถือว่าใช้ได้นะครับเพราะถือว่านายจ้างได้ให้การรับรอง แต่ถ้าหัวงานคนใดคิดจะแกล้งลูกน้อง  ออกใบเตือนให้ลูกน้องไปแบบสุ่มๆ แล้วเอาไปให้ MD หรือผู้จัดการเซ็นทีหลัง แล้วเขาไม่ยอมเซ็น อันนี้จะซวยเอา เพราะจะไม่มีผลผูกพันลูกจ้าง และอาจถือว่าเป็นการทำผิดวินัยบริษัทอีกด้วย

 

ที่มา โดยทนายนำชัย พรมทา numchailawyer