ในปัจจุบันคำว่า Passion ถูกพูดถึงอย่างมาก เพราะ Passion เป็นเหมือนแรงผลักดันจากภายในที่ทำให้เรามีใจในการลงมือทำสิ่งต่างๆ Passion จึงเปรียบเสมือน “เชื้อเพลิง” ที่ใช้ในการขับเคลื่อนการทำงาน คงจะดีไม่น้อยหากพนักงานในองค์กรของเราทำงานด้วย Passion แต่นั่นก็เป็นเพียงแนวคิดในอุดมคติ...
เพราะ Passion ก็เหมือนไฟที่มีวันลดลงจนมอดดับไปหากขาดการเติมเชื้อไฟอยู่เสมอ หรือที่เรียกว่า เข้าสู่ภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout Syndrome) พนักงานในปัจจุบันส่วนมากเป็นคนยุคมิลเลนเนียลมักถูกมองว่ามีความอดทนน้อย เปลี่ยนงานบ่อย หมดไฟง่าย การเติมและการรักษา Passion ของพนักงานจึงกลายเป็นเรื่องสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรไปเสียแล้ว
1. เข้าใจคาแรคเตอร์มนุษย์มิลเลนเนียล = กุญแจสำคัญ
อันดับแรกต้องเข้าใจในคาแรคเตอร์ของพนักงานวัยมิลเลนเนียลก่อนว่า คนวัยนี้รักอิสระ มีความเป็นตัวของตัวเองสูง กล้าที่จะออกนอกกรอบนอกขนบประเพณี ดังนั้น อย่าไปจำกัดกรอบหรือระเบียบวินัยในการทำงานของเขามากจนเกินไป เพราะพวกเขาต้องการรักษาความสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวกับชีวิตทำงาน ระบบและวัฒนธรรมการทำงานแบบเดิม ๆ จะยิ่งทำให้พวกเขารู้สึกอึดอัดและเบื่อหน่าย ควรจะมีกรอบของกฎเกณฑ์ที่ยืดหยุ่นได้ เพื่อให้พื้นที่ในการแสดงผลงานได้อย่างเต็มที่
2. เคารพชีวิตส่วนตัว = ไว้ใจ
การโทรตามงานนอกเวลา หรือคอยจับผิดเวลาเล่น Facebook หรือ LINE จะยิ่งทำให้เขารู้สึกว่าถูกหน้าที่การงานเข้ามากลืนกินชีวิตส่วนตัวมากขึ้น เช่นเดียวกับพนักงานยุคก่อน บุคลากรวัยมิลเลนเนียลก็ต้องการได้รับความไว้วางใจจากเจ้านายเช่นกัน ซึ่งความไว้วางใจนี้จะทำให้พวกเขารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรได้
3. รางวัล = เรื่องแฟร์ ๆ
การที่พนักงานทำผลงานได้ดีแล้วองค์กรจะให้รางวัล ไม่ว่าจะเป็นโบนัส การพาไปเอ้าท์ติ้งต่างประเทศ หรือรางวัลในรูปแบบอื่น ๆ คนยุคมิลเลนเนียลไม่ได้มองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงกำลังใจให้เขาพัฒนาความสามารถเท่านั้น แต่ยังมองว่าเป็น ‘ความแฟร์’ หรือ ‘สิทธิ์ที่เขาพึงได้รับ’ จากความอุตสาหะที่ผ่านมาอีกด้วย จะเห็นได้ว่าองค์กรสมัยใหม่จึงค่อนข้างแข่งขันกันในส่วนของสวัสดิการพนักงาน เพราะหากองค์กรใดละเลยในจุดนี้ก็ยากที่จะดึงดูดคนเก่ง ๆ มาทำงานให้องค์กร
4. เห็นเป้าหมาย = รู้อนาคต
มนุษย์มิลเลนเนียลจะชอบทำงานอย่างมีเป้าหมาย ลึก ๆ แล้วเขาไม่ได้โฟกัสเพียงว่า สิ้นเดือนจะได้ผลตอบแทนเท่าไร แต่พวกเขาแคร์ว่าตนเองอยู่ในองค์กรที่มีทิศทางที่ชัดเจนหรือไม่ เช่น หากองค์กรนั้นเป็นบริษัท Startup ที่เพิ่งเปิดใหม่ ธุรกิจยังไม่นิ่ง ไม่สามารถทำให้พนักงานเห็นอนาคตของการทำงานในบริษัทนี้ได้ ฯลฯ ก็ยากที่จะรักษาพนักงานไว้ในองค์กรได้นาน ๆ การกำหนดทิศทางขององค์กรที่จำกัดให้รู้กันภายในผู้บริหารเพียงไม่กี่คนแบบวัฒนธรรมองค์กรยุคเก่า จึงอาจกลายเป็นสิ่งที่ต้องนำมาพิจารณากันใหม่แล้ว
5. ออฟฟิศเก๋ๆ เท่ๆ = ที่มาของความคิดสร้างสรรค์
ทำไมบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Google จึงต้องลงทุนและให้ความสำคัญกับการตกแต่งออฟฟิศและห้องอาหารพนักงาน? จนมีภาพ “ออฟฟิศในฝัน” ของ Google ออกปรากฏแก่สายตาคนทั่วไป
เพราะส่วนหนึ่งที่สำคัญในการขับเคลื่อนพนักงานในองค์กรก็คือ สภาพแวดล้อมในที่ทำงานออฟฟิศควรจะมีสภาพแวดล้อมที่ส่งพลัง (energy) ในการทำงานมาที่ตัวบุคคล บรรยากาศเป็นแง่บวก (good vibe) และผ่อนคลาย มีที่ให้นั่งถกปัญหากันเหมือนในร้านกาแฟ ส่งเสริมให้ได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ไปพร้อม ๆ กับมุมคลายเครียด
ภาวะหมดไฟในการทำงานเกิดได้กับทุกคนในองค์กร แต่ผู้บริหารองค์กรก็มีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะช่วยไม่ให้เกิดขึ้น ลองปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรให้ทันตามยุคสมัยเพื่อดึงดูดและรักษาบุคลากรดีๆไว้กับบริษัท
ที่มา www.krungsri.com