นายจ้างควรรู้ ... การเรียกหรือรับเงินประกันจากลูกจ้างผิดวิธี อาจติดคุกได้

       ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 10 กำหนดว่า “ภายใต้บังคับมาตรา ๕๑ วรรคหนึ่ง ห้ามมิให้นายจ้างเรียก หรือ รับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานไม่ว่าจะเป็นเงิน ทรัพย์สินอื่น หรือ การค้ำประกันด้วยบุคคลจากลูกจ้างเว้นแต่ลักษณะหรือสภาพของงานที่ทำนั้นลูกจ้างต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินของนายจ้าง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างได้ ทั้งนี้ลักษณะหรือสภาพของงานที่ให้เรียกหรือรับหลักประกันจากลูกจ้าง ตลอดจนประเภทของหลักประกัน จำนวนมูลค่าของหลักประกัน และวิธีการเก็บรักษา ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด”

        นั่นหมายความว่าโดยหลักแล้วกฎหมายห้ามเรียกเงินหรือหลักประกันจากลูกจ้าง (ไม่ว่าจะเป็นหลักประกันประเภทเงินสด บุคคลค้ำประกันก็ตาม นอกจากงานที่  “มีลักษณะหรือสภาพของงานที่ทำนั้นลูกจ้างต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินของนายจ้าง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างได้” ท่านนั้นจึงจะเรียกหลักประกันจากลูกจ้างได้

        งานที่มีลักษณะดังกล่าวข้างต้นที่ทำให้นายจ้างเรียกหลักประกันได้ ก็เช่น งานสมุห์บัญชี งานพนักงานเก็บหรือจ่ายเงิน งานควบคุมหรือรับผิดชอบเกี่ยวกับวัตถุมีค่า งานเฝ้าหรือดูแลสถานที่หรือทรัพย์สินของนายจ้างหรือที่อยู่ในความรับผิดของนายจ้าง งานติดตามเร่งรัดหนี้สิน งานควบคุมหรือรับผิดชอบยานพาหนะ งานที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการคลังสินค้าซื้อขายแลกเปลี่ยนให้เช่าทรัพย์ให้เช่าซื้อ ให้กู้ยืม รับฝากทรัพย์ รับจำนอง รับจำนำ รับประกันภัย รับโอนหรือรับจัดส่งเงิน หรือการธนาคาร ทั้งนี้เฉพาะลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ควบคุมเงินหรือทรัพย์สินเพื่อการที่ว่าเท่านั้น

          นายจ้างที่ฝ่าฝืนปฏิบัติไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 10 ในเรื่องการเรียกหรือรับการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายจากการทำงาน จะเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 144 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีที่นายจ้างไม่คืนเงินประกันให้แก่ลูกจ้างภายใน 7 วัน นับแต่วันที่นายจ้างเลิกจ้างหรือวันที่ลูกจ้างลาออกหรือวันที่สัญญาประกันสิ้นอายุ จะต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี หากจงใจผิดนัดโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 15 ทุกระยะเ 7 วัน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 9

 

ที่มา ธรรมนิติ