ตอนได้ยินคำว่าหมายเหตุประกอบงบการเงินเป็นครั้งแรก หลายๆคนอาจคิดว่ามันเป็นส่วนหมายเหตุเล็กๆ แบบหมายเหตุตามความเข้าใจปกติ แต่ในความเป็นจริง มันคือส่วนประกอบที่ใหญ่ที่สุดของงบการเงิน เรียกได้ว่ากว่า 80-90% ของงบการเงินคือ “หมายเหตุ” นี่แหละ
ทำไมมันถึงกินพื้นที่มากมายขนาดนี้แค่หมายเหตุ? คำตอบคือ หมายเหตุประกอบงบการเงิน คือ ส่วนที่จะต้องใช้อธิบายภาพรวมของที่มาที่ไปของตัวเลขในงบการเงินทั้งหมด รวมทั้งแจงรายละเอียดส่วนต่างๆ ที่ถูกรวมกันเป็นก้อนใหญ่ๆ ของงบการเงิน พูดง่ายๆ คือ มันเป็นส่วนที่บอกว่า สินทรัพย์ถาวรที่เห็นในทางบัญชีนั้น มันเป็นที่ดินเท่าไร? ที่ไหนบ้าง? เป็นการถือหุ้นในบริษัทใดบ้าง? มีสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้เป็นอะไรบ้าง? แล้วมันคำนวณมาอย่างไร? เป็นต้น
ซึ่งรายละเอียดมันเยอะมาก และมันก็มีความแตกต่างกันไปตามแต่ละบริษัทที่อยากจะทำมันออกมา อย่างไรก็ดี มันก็จะมีองค์ประกอบที่พบเห็นได้ทั่วไปดังนี้
1. ภาพรวมของนโยบายทางการบัญชี : ส่วนแรกสุดของหมายเหตุประกอบงบการเงินก็คือนโยบายทางบัญชีในภาพรวมของบริษัท ซึ่งจะแจงเรื่องทั่วไปว่าบริษัทมีนโยบายทางบัญชีอย่างไร ก่อนจะไปลงรายละเอียดในส่วนอื่นๆ ที่จะตามมา
2. วิธีคิดค่าเสื่อมราคา : ในทางบัญชี ค่าเสื่อมราคาเป็นประเด็นใหญ่มากๆ เพราะมันมีความแตกต่างกันพอสมควร พูดง่ายๆ คือ เราดูแค่งบการเงิน เราไม่มีทางรู้ว่าค่าเสื่อมราคาของสินทรัพย์ต่างๆ ที่มีค่าเสื่อมราคานั้นคิดอย่างไร และหมายเหตุประกอบงบการเงิน ก็มีบทบาทสำคัญในการชี้ตรงนี้ให้ชัดเจน
3. รายละเอียดลูกหนี้ : การทำธุรกิจค้าขาย การที่บริษัทมีลูกหนี้ทางการค้าเป็นเรื่องปกติ อย่างไรก็ดีแค่การเห็นตัวเลขลูกหนี้การค้าในภาพรวมก็ยังไม่เพียงพอในการประเมินความเหมาะสมในการเป็น “เจ้าหนี้” ของบริษัท ดังนั้นในหมายเหตุประกอบงบการเงินก็จะมีการชี้แจงในส่วนนี้ด้วย ซึ่งโดยทั่วไป บริษัทก็จะไม่แจงระดับว่าเป็นลูกหนี้ใครบ้าง แต่จะทำการแบ่งหนี้เป็นก้อนๆ ตามขนาดหนี้เพื่อให้เห็นภาพใหญ่ เป็นต้น
4. รายละเอียดเจ้าหนี้ : แน่นอนว่าการไปกู้ยืมเงินจากหลายต่อหลายแหล่งด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน เพื่อมาขยายธุรกิจของบริษัทเป็นเรื่องปกติ แต่ในงบการเงินมันจะแยกเป็นแค่หนี้ระยะสั้นกับหนี้ระยะยาวเท่านั้น ซึ่งในส่วนของหมายเหตุประกอบงบการเงินก็จะมีหน้าที่ชี้แจงองค์ประกอบต่างๆ ของหนี้ของบริษัท ซึ่งก็อาจไม่ระบุว่าบริษัทไปกู้ยืมมาจากสถาบันทางการเงินใด แต่อาจแยกหนี้เป็นก้อนต่างๆ เพื่อให้เห็นรายละเอียด นอกจากนี้ถ้าบริษัทมีการออกหุ้นกู้ รายละเอียดของหุ้นกู้ก็จะอยู่ในส่วนนี้ด้วย
5. การลงทุนและถือหุ้นในบริษัทอื่นๆ : สำหรับบริษัทใหญ่ การลงทุนและการถือหุ้นในบริษัทอื่นๆ เป็นเรื่องปกติ ซึ่งนี่จะไม่ใช่สิ่งที่เราเห็นได้ชัดในงบการเงิน เพราะมันจะไปรวมอยู่ในสินทรัพย์ถาวร อย่างไรก็ดีเป็นสิ่งที่บริษัทต้องใส่ลงไปในหมายเหตุประกอบงบการเงิน พูดง่ายๆ คือบริษัทต้องชี้แจงว่าบริษัทถือหุ้นในบริษัทใดอยู่บ้าง? แล้วถือเท่าไร? ซึ่งนี่ก็รวมไปถึงการสร้างรายได้ของบริษัทในรูปแบบของเงินปันผลจากบริษัทที่ทางบริษัทไปถือหุ้นอยู่ด้วย
6. รายละเอียดสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ : ในยุคนี้สินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้อย่างลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร และเครื่องหมายการค้าก็กลายมาเป็นสิ่งที่มีมูลค่ามากขึ้นเรื่อยๆ และแน่นอนว่ามันต้องไปอยู่ในบัญชี ซึ่งชื่อมันก็บอกอยู่แล้วว่ามัน “จับต้องไม่ได้” ดังนั้นมันก็ย่อมมีความเป็นนามธรรมมากแน่ๆ ในการประเมินมูลค่าของสินทรัพย์เหล่านี้ ซึ่งบริษัทก็มักจะใส่วิธีการประเมินมูลค่าของสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้เหล่านี้เข้าไปในหมายเหตุประกอบงบการเงิน
7. รายละเอียดด้านอัตราแลกเปลี่ยน : สุดท้าย ถ้าในงบการเงินมีประเด็นเกี่ยวกับสกุลเงินต่างประเทศ การเปลี่ยนค่าเงินย่อมเกิดขึ้น และทางบริษัทก็จะใช้หมายเหตุประกอบงบการเงินเพื่อทำการชี้แจงที่มาที่ไปของอัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้ในส่วนต่างๆ ของงบการเงิน
ที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่พบเห็นทั่วไปในหมายเหตุประกอบงบการเงินเท่านั้น ในความเป็นจริง แต่ละบริษัทก็มีหน้าตาของหมายเหตุประกอบงบการเงินที่แตกต่างกันพอควรได้ เนื่องจากมีการเพิ่มรายละเอียดต่างๆ เข้าไปนอกเหนือจากองค์ประกอบพื้นฐานเหล่านี้
ที่มา sme.krungthai.com
23 September 2024
View
120