1.ค่าใช้จ่ายในส่วนของเงินเดือนกรรมการผู้จัดการบริษัท
การแยกกระเป๋าเงินของเจ้าของกับกิจการออกจากกันอย่างชัดเจนนับว่าเป็นการบริหารเงินที่ดี เรื่องของการวางแผนภาษีเงินเดือนของเจ้าของกิจการสามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ ซึ่งจะต้องทำเป็นเอกสารออกมาให้ชัดเจนส่งผลทำให้กิจการเสียภาษีน้อยลง แต่รายได้เงินเดือนก็จะต้องไปเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ถ้าบริษัทจ่ายเงินเดือนที่เหมาะสมก็จะทำให้เจ้าของไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ในส่วนนี้ หรือใช้สิทธิลดหย่อนต่างๆเข้ามาช่วยจัดการได้เช่นกัน นอกจากจะเป็นการลดหย่อนภาษีให้กับบริษัทแล้ว เจ้าของกิจการก็สามารถใช้จ่ายได้อย่างสบายใจโดยที่ไม่ต้องคอยกังวลว่าจะถูกตรวจสอบย้อนหลังอีกด้วย
2.ค่าน้ำมันรถ นำมาหักลดหย่อนภาษีได้
การติดต่อประสานงานกับบุคคลหรือหน่วยงานต่างๆในเรื่องสำคัญ เป็นอีกหนึ่งกระบวนการสำหรับกรรมการบริษัทหรือเจ้าของธุรกิจ แม้ว่ารถยนต์ที่ใช้อยู่นั้นไม่เป็นชื่อของนิติบุคคล ก็สามารถนำค่าน้ำมันมาบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ ถ้าการเติมน้ำมันดังกล่าวใช้เพื่อการดำเนินงานของกิจการ ไม่ใช่การใช้งานส่วนตัว นิติบุคคลจะต้องมีการเก็บข้อมูลหลักฐานให้เป็นที่น่าเชื่อถือแก่การตรวจสอบของเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร เช่น แบบฟอร์มขออนุญาตพร้อมทั้งบันทึกการเดินทาง ใบเสร็จค่าน้ำมันที่ระบุชื่อเจ้าของรถยนต์ และหมายเลขทะเบียน
3.ทำประกันชีวิต ลดหย่อนภาษี ให้กรรมการบริษัท
อีกหนึ่งแนวทางในการลดหย่อนภาษีที่ให้ทั้งความคุ้มครองชีวิต และบริษัทยังสามารถนำค่าเบี้ยประกันชีวิตที่ออกให้ทั้งหมด มาลงเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้เต็มจำนวนอีกด้วย ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า
- ต้องให้กรรมการผู้จัดการทุกคน โดยไม่ใช่รายจ่ายที่มีลักษณะเป็นการส่วนตัวหรือการให้โดยเสน่หา และต้องมีเบี้ยประกันชีวิตที่เหมาะสมและสมควร
- ต้องมีการบันทึกวาระการประชุมต่างๆอย่างละเอียด มีมติที่ประชุมของบริษัท และต้องมีการเขียนระเบียบการของบริษัทอย่างชัดเจน
- ต้องมีการบันทึกหลักฐานทางบัญชีอย่างถูกต้อง และการเก็บเอกสารอย่างครบถ้วน
ทั้งนี้เงินค่าเบี้ยประกันชีวิตที่บริษัทจ่ายแทนกรรมการ เข้าลักษณะเป็นประโยชน์เพิ่มที่กรรมการได้รับ ถือเป็นเงินได้ตามกฎหมายภาษี ซึ่งกรรมการต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วยเช่นกัน ข้อควรระวังคือแม้จะเป็นการช่วยบริหารภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่อาจจะเป็นการโยนภาระให้กรรมการบางคนที่มีรายได้ค่อนข้างมากอยู่แล้วเสียภาษีในอัตรามากกว่า 20% แทน
4.การจ่ายเงินส่วนแบ่งกำไร เงินโบนัส
ธุรกิจที่มีการจ่ายโบนัส ย่อมหมายถึงผลประกอบการที่ดี แต่ใช่ว่าปีไหนมีกำไรก็จ่าย ปีไหนขาดทุนก็ไม่จ่าย เพราะสรรพากรจะมองว่าโบนัสที่จ่ายเป็นการสร้างค่าใช้จ่ายก่อนภาษี และได้เอาไปเป็นค่าใช้จ่ายที่หักออกจากผลกำไรแล้ว ไม่ถือเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องบวกกลับ ทำให้ต้องเสียภาษีนิติบุคคลเพิ่ม หากจะทำให้ถูกต้องควรจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการ วางหลักเกณฑ์การจ่ายผลตอบแทนที่ชัดเจน โดยที่ต้องนำหลักฐานเข้าขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นอีกที ในกรณีการจ่ายเงินให้แก่กรรมการผู้จัดการบริษัท เพื่อให้การบริหารบรรลุเป้าหมาย และเพื่อประโยชน์สูงสุดขององค์กร หากบริษัทมิได้กำหนดจ่ายจากผลกำไรที่ได้เมื่อสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีแล้ว บริษัทสามารถนำค่าตอบแทนพิเศษและเงินโบนัส มาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทได้ ไม่ถือเป็นรายจ่ายต้องห้าม ตามมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด
ที่มา taokaemai.com