หลักการวางแผนภาษีในการส่งเสริมการขาย

     หลักการวางแผนภาษีในการส่งเสริมการขาย

     ในทางธุรกิจ นอกจากการขายสินค้าและบริการตามปกติแล้ว การส่งเสริมการขาย ก็เป็นสิ่งจำเป็นในทางธุรกิจ ซึ่งในบริษัทส่วนใหญ่สิ่งเหล่านี้ก็จะถือเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุน อย่างไรก็ดี การส่งเสริมการขาย มีส่วนที่เกี่ยวข้องทางภาษีที่จะต้องพิจารณา และเราก็ต้องตระหนักตลอดเวลาว่าการส่งเสริมการขายที่มีประสิทธิภาพทางธุรกิจที่สุด จะต้องมีการวางแผนด้านภาษีเกี่ยวข้องด้วย

     ทั้งนี้ส่วนที่เกี่ยวข้องทางภาษีที่เราต้องให้ความใส่ใจในการวางแผนภาษีส่งเสริมการขายนั้นมี 2 ส่วนด้วยกัน คือ ส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งเราสามารถแยกคำตอบในการวางแผนภาษีส่งเสริมการขาย เป็นกรณีดังนี้

     1. การลดราคาสินค้าทั่วไป

ด้านภาษีมูลค่าเพิ่มต้องคิดอย่างไร? คำตอบคือ ภาษีมูลค่าเพิ่มต้องคิดจากราคาที่ลดนะครับ ซึ่งก็ต้องมีใบกำกับภาษีที่ชัดเจนประกอบตอนยื่นภาษี

     ส่วนลดทั่วไปของสินค้าต่างๆ จะอยู่ตรงไหนใน บัญชีภาษีเงินได้นิติบุคคล? อันนี้ต้องแยกเป็น 2 กรณี

     1.) กรณีที่ส่วนลดเกิดขึ้นตอนซื้อขายสินค้าและบริการเลย ยอดขายตอนนั้นก็จะลงบัญชีเป็นรายได้ปกติ ไม่ต้องมีส่วนลดเข้ามาเพิ่ม

     2.) กรณีที่ส่วนลดเกิดขึ้นภายหลังการซื้อขายสินค้าและบริการ (เช่น กรณีของ Cash Back) ในการรายงานบัญชี ให้รายงานรายได้จากยอดขายในราคาเต็ม และเพิ่มส่วนลดที่เกิดขึ้นไปได้ในส่วนของ “รายจ่าย” ซึ่งที่เพิ่มได้เพราะส่วนลดในแบบนี้ ไม่เข้าข่ายรายจ่ายต้องห้าม

     2. การลดราคาระดับล้างสต็อค

     การลดราคาระดับล้างสต็อค มีประเด็นภาษีต้องคำนึงเป็นพิเศษ เนื่องจากไม่ใช่การลดราคาระดับทั่วไป แต่ลดต่ำกว่าราคาตลาด ดังนั้นมันจึงต้องมีข้อคำนึงทางภาษีที่ต่างออกไป

     ด้านภาษีมูลค่าเพิ่ม สินค้าที่ลดแบบล้างสต็อคก็ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มที่ราคาขายล้างสต็อคครับ อันนี้มาตรฐานเหมือนสินค้าลดราคาทั่วไป

     ด้านภาษีเงินได้นิติบุคคล อันนี้จะมีรายละเอียดมากหน่อย ถ้าการลดราคาแบบล้างสต็อคนั้นไม่ได้มีราคาต่ำกว่าราคาตลาด เราจะคิดเหมือนการลดราคาทั่วไป อย่างไรก็ดี ถ้าการขายมีราคาต่ำกว่าราคาตลาดเมื่อใด ก็จะเข้าเงื่อนไขที่เราควรต้องจัดการอย่างพิเศษถึงจะมีประสิทธิภาพทางภาษีสูงสุด หรือพูดในภาษากฎหมายก็คือต้อง “มีเหตุอันสมควร” ในการขายสินค้าราคาต่ำกว่าราคาตลาด

     สินค้าที่จะนำมาลดล้างสต็อคได้ต้องมีลักษณะ “สินค้าที่เสื่อมคุณภาพ สินค้าที่มีตำหนิ สินค้าที่หมดสมัยนิยม สินค้าที่หมดอายุ และเศษซาก”  ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขที่บริษัทฯ กำหนดไว้ ซึ่งสินค้าพวกนี้ต้องได้รับการตรวจสอบ และได้รับอนุมัติจากผู้มีอำนาจในการพิจารณาให้เป็นสินค้าที่เสื่อมคุณภาพ สินค้าที่มีตำหนิ สินค้าที่หมดสมัยนิยม สินค้าที่หมดอายุ และเศษซาก ดังกล่าวแล้ว นอกจากนี้ก็จะต้องมีบุคคลร่วมสังเกตการณ์ประกอบด้วยฝ่ายคลังสินค้าและฝ่ายบัญชี โดยลงลายมือชื่อเป็นพยานในการขาย เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการบันทึกบัญชี หลังจากนั้นถ้าบริษัทนำสินค้าเหล่านี้ไปขายล้างสต็อค ถือได้ว่าบริษัทได้ขายทรัพย์สินโดยมีค่าตอบแทนต่ำกว่าราคาตลาด โดยมีเหตุอันสมควร

     ถ้าเราไม่ทำตามเงื่อนไขดังนี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ เจ้าพนักงานด้านภาษีก็จะมีสิทธิ์ในการประเมินรายได้จากการล้างสต็อคของเราในราคาตลาด เช่น ถ้าปกติเราขายสินค้าในราคา 100 บาท แต่เราขายสินค้าลดล้างสต็อคไปในราคา 30 บาท เจ้าพนักงานก็มีอำนาจที่จะให้เราเพิ่มรายได้ในบัญชีไปให้เป็นราคาตลาด ซึ่งถือว่าเรามีราคาได้จากการขายสินค้านั้น 100 บาท เป็นต้น

     3. การแถมสินค้าหรือการแจกสินค้าฟรี

     ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่? แน่นอนว่าในทางธุรกิจ การให้ของแถมนั้นเป็นการส่งเสริมการขายชั้นดี ไม่ว่าจะเป็นการซื้อสินค้าอย่างหนึ่ง แล้วแถมสินค้าอีกอย่าง การซื้อ 1 แถม 1 ซึ่งแน่นอนว่าสำหรับตัวธุรกิจเอง การให้ของแถมลูกค้าไปไม่เป็นการสร้างรายได้

     ในทางภาษี “ของแถม” พวกนี้ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มนะครับ และต้องเสียตามมูลค่าตลาดด้วย ถ้าไม่เข้าข่ายข้อยกเว้นต่างๆ ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40) เรื่อง กำหนดลักษณะ และเงื่อนไข ค่าตอบแทนที่ไม่ต้องนำมารวมคำนวณมูลค่าของฐานภาษี ตามมาตรา 79(4) แห่งประมวลรัษฎากร ในข้อ 2 ระบุไว้ว่า มูลค่าของสินค้าที่แถมพร้อมกับการขายสินค้าหรือการให้บริการไม่ว่าสินค้าที่แถมนั้นจะเป็นสินค้าประเภท และชนิดเดียวกับสินค้าที่ขายหรือบริการที่กระทำหรือไม่

     แต่มูลค่าของสินค้าที่แถมจะต้องไม่เกินมูลค่าของสินค้าที่ขายหรือมูลค่าของการให้บริการ ถ้าเป็นการแถมในลักษณะเช่นนี้ไม่ต้องนำมูลค่าของแถมมาคำนวณรวมเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

     หรือถ้าเป็นสินค้าที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น หนังสือ และพวกสินค้าเกษตร ก็ไม่ต้องนำมูลค่าของแถมมาคำนวณรวมเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยเช่นกัน

     แล้วการแถมสินค้าหรือการแจกสินค้าฟรี ในทางภาษีเงินได้นิติบุคคลล่ะ? อันนี้ถ้าจะอธิบายง่ายๆ ก็คือต้องคิดเหมือนการขายสินค้าราคาต่ำกว่าตลาดแบบการ “ล้างสต็อค” ครับ ซึ่งถ้าไม่มี “เหตุสมควร” เจ้าพนักงานจะมีอำนาจในการสั่งให้เอา “ของแถม” มาคิดเป็นรายได้ของบริษัทตามราคาตลาดในบัญชีภาษี

     ดังนั้นในแง่นี้ “ของแถม” ที่มีประสิทธิภาพทางภาษีก็คือ “สินค้าที่เสื่อมคุณภาพ สินค้าที่มีตำหนิ สินค้าที่หมดสมัยนิยม สินค้าที่หมดอายุ และเศษซาก” ซึ่งผ่านกระบวนการต่างๆ ให้มันมี “เหตุสมควร” ในการที่บริษัทจะขายออกไปในราคาต่ำกว่าตลาด ดังที่อธิบายไว้แล้วในหัวข้อการลดล้างสต็อค

     ทั้งหมดนี้เราก็จะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะเป็นการลดราคาหรือการให้ของแถม ก็จะมีมิติทางภาษี ซึ่งถ้าเรามีการวางแผนทางภาษีสำหรับสิ่งเหล่านี้ให้ดี เราก็จะเสียภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ที่มา www.sme.krungthai.com