4 ทักษะที่ผู้นำควรมี ในยุคที่ AI ทำแทนไปซะทั้งหมด

ในการทำงานก็มี hard skills และ soft skills เราถูกจ้างเพราะ hard skills และหากเราทำ hard skills ได้ไม่ดี ก็ต้องถูกส่งไปอบรมปรับทักษะเพราะมีผลต่อผลงานและต่อธุรกิจโดยตรง ส่วน soft skills ถูกมองว่าเป็นส่วนเสริมที่จะทำให้เราทำ hard skills ได้ดียิ่งขึ้น แต่ปัจจุบันกลับพบว่า soft skills หลายตัวเช่น problem solving, creativity, collaboration, communication ถูกมองกลับด้าน กลายเป็นของสำคัญไปซะแล้ว เพราะงานในองค์กรถูกทดแทนด้วย AI ไปหลายอย่างแล้ว งานที่ทำซ้ำ ปริมาณมากและต้องการความรวดเร็ว แต่ soft skills ดังกล่าวถูกทำแทนด้วย AI ได้ยากกว่าเพราะใช้มิติความเป็นมนุษย์สูงมาก ดังนั้นกลายเป็นว่าเราจะถูกจ้างงาน หรือถูกให้ออกก็เพราะ soft skills ไปซะแล้ว จึงไม่มีคำว่า soft หรือ hard skills ในปัจจุบัน
แต่skills ใดๆที่สำคัญมันถูกนับรวมเป็น essential skills ซึ่งหมายรวมถึงทักษะในการนำคนที่ถูกพัฒนาต่อยอดมาเป็นพันๆปีตั้งยุคมนุษย์เริ่มมีอารยธรรมไม่ว่าจะเป็น decision making, authority และ workforce management เริ่มถูกทดแทนด้วย AI ได้เกือบสมบูรณ์ จากงานวิจัยด้าน Leadership in Digital Age ของ IMD’s Center for Digital Business ได้ข้อสรุปว่า 4 ทักษะ (HAVE) ที่ผู้นำยังต้องทำด้วยตัวเองไปอีกนานโดย AI ยังช่วยอะไรมากไม่ได้นั้นได้แก่

H: Humility
ผู้นำมักถูกอัดแน่นไปด้วยงานประจำวันจนอาจไม่มีเวลาเปิดโลกทัศน์ตัวเองให้กว้างพอทั้งภายใน และภายนอกองค์กร และอาจมีอัตตาเพราะประสบความสำเร็จมามาก แต่ผู้นำในยุค digital age ต้องเปิดหูเปิดตาสุดๆ ทั้งจากภายในและภายนอกเพราะโลกหมุนไปไว เราต้องเชื่อเสมอว่า คนที่มีประสบการณ์น้อยกว่า ก็อาจรู้อะไรมากกว่าได้ คำว่าอาบน้ำร้อนมาก่อน อาจใช้ไม่ได้ทั้งหมด การถ่อมตนยอมรับว่าเป็นผู้ไม่รู้อาจขัดแย้งต่อความเป็นผู้นำที่ต้องมีความมั่นใจและน่ายำเกรง แต่ก็ทำให้เราเป็นผู้นำแบบยุคเก่า

A: Adaptability
ผู้นำแบบ คำไหน คำนั้น ตัดสินใจไปแล้วเปลี่ยนไม่ได้ อาจไม่เหมาะกับ digital age และจะทำร้ายองค์กรในที่สุด เพราะทำให้พลาดโอกาสดีๆหรือแก้ปัญหาไม่ทันการณ์ หลายครั้งสถานการณ์เปลี่ยนก็ควรเป็นเหตุให้การตัดสินใจและมุมมองเปลี่ยนไปได้บ้างเพราะเหตุการณ์ภายนอกมันเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เช่นเราบอกเราจะเปิดตลาดนู้นนี่ ไม่มีการเลย์ออฟคน แต่นั่นบนพื้นฐานของการคาดการณ์เดิม แต่ Covid-19 มา หรือกระแสที่จะถูก disrupt สิ่งที่เคยตั้งใจไว้ก็อาจไม่เวิร์คอีกต่อไป
V: Vision
การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของสถานการณ์ โมเดลธุรกิจที่ต้องเปลี่ยนไปตามภูมิทัศน์ที่ปรับเปลี่ยน ซึ่งทำให้ผู้นำต้องปราดเปรียวอย่างที่กล่าวมา แต่นั่นยิ่งต้องทำให้ต้องชัดเจนในวิสัยทัศน์ ว่าจะพาคนของเราไปที่ไหน ทีมไม่มีวิสัยทัศน์ก็ขาดเข็มทิศนำทาง และยังขาดพลัง บริษัทที่ต้องอยู่ในความไม่แน่นอนของเทคโนโลยีเช่น Amazon, Facebook, Google, และ Apple ต่างก็ชัดเจนใน vision แบบไม่เคยเปลี่ยนเลย
E: Engagement
ในมุมของการสร้างความใกล้ชิดและความผูกพันต่อองค์กรของพนักงาน AI คงทำได้แค่การสำรวจความคิดเห็นผ่าน survey และอาจเสนอแนวทางได้ แต่หากเอาข้อเสนอแนะไปปฏิบัติแบบตรงๆเลยก็อาจทำให้เกิดปัญหาได้ คงยังเป็นทักษะสำคัญของผู้นำในทุกๆระดับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

 

ที่มา www.brightsidepeople.com