หัวหน้าแบบไหนที่ลูกน้องกด Like

              เรื่องของการเป็นหัวหน้างาน หรือเป็นผู้จัดการที่ดีนั้น เป็นเรื่องที่คุยกันได้อย่างไม่มีวันจบสิ้น แม้ว่าจะงานวิจัยออกมามากมายว่า หัวหน้างานที่ดีนั้น เป็นอย่างไร มีคุณสมบัติอย่างไร แต่เมื่อเวลาผ่านไปเราก็ยังต้องการที่จะทราบอยู่ดีว่าหัวหน้างานที่ดีนั้นเป็นอย่างไรกันแน่ สาเหตุส่วนหนึ่งก็เพราะ งานวิจัยที่ออกมานั้นโดยมากมักจะเป็นหลักการในเชิงวิชาการ แต่พอจะเอาไปใช้ในทางปฏิบัติกลับใช้ยาก บางคนมองว่าแทบจะทำไม่ได้เลยก็มี

              อย่างไรก็ดี เรื่องของการเป็นหัวหน้างานที่ดีนั้น ไม่ใช่แค่การศึกษาหรืออ่านหนังสือ หรือรู้เคล็ดลับเพียงอย่างเดียว สิ่งที่จะต้องทำต่อเมื่อได้เรียนรู้หลักการแล้วก็คือ การเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงตนเอง เพื่อให้เป็นหัวหน้างานที่ดีตามที่เราตั้งใจไว้ ความยากก็คงอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงตนเองนี่แหละ

              จากประสบการณ์ในการเป็นหัวหน้าของผู้เขียน ก็พอที่จะสรุปได้ว่าหลักการและแนวทางในการเป็นหัวหน้างานที่ดี เป็นหัวหน้างานที่พนักงานรัก และพอใจอยู่บ้าง นั้นต้องมีลักษณะอย่างไร ลองมาดูกัน

1.เอาใจเขามาใส่ใจเรา

              ถ้าหัวหน้างานที่ดีในสายตาของพนักงาน สิ่งแรกที่จะต้องทำให้ได้ก็คือ การ “เอาใจลูกน้องมาใส่ใจเรา” ต้องเข้าใจลูกน้องแต่ละคนว่า เขากำลังคิดอะไร รู้สึกอย่างไร ลองคิดดูว่าถ้าเป็นเราโดนเข้าแบบนั้นเราจะรู้สึกอย่างไร ลูกน้องเราเองก็เช่นเดียวกัน เช่น หัวหน้างานบางคนมักจะโวยวาย ตีโพยตีพาย และด่ากราดลูกน้องที่ทำงานไม่ได้ดั่งใจต่อหน้าลูกน้องคนอื่น ๆ เพื่อความสะใจของตัวเอง อยากให้ลองเอาใจเขามาใส่ใจเราดูว่า ถ้าเราถูกหัวหน้าของเราด่ากราดต่อหน้าลูกน้องตัวเองเราจะรู้สึกอย่างไรบ้าง

              ตัวเราเองในฐานะหัวหน้าก็ต้องการได้รับการพัฒนา ต้องการความก้าวหน้า ลูกน้องเองก็ต้องการเช่นกัน เราต้องการความเป็นธรรมในการบริหารจัดการลูกน้องของเราก็ต้องการเช่นกัน ฯลฯ ดังนั้นวิธีง่ายๆ ก็คือ พยายามคิดถึงความรู้สึกของลูกน้องเวลาที่เราต้องบริหารจัดการเขา แม้ว่าลูกน้องของเราบางคนผลงานอาจจะออกมาไม่ดี แต่เราก็สามารถที่จะพูดคุยหารือด้วยความใส่ใจ และจริงใจ เพื่อที่จะบอกเขาว่า เรากำลังหาวิธีการพัฒนาให้ผลงานของเขาดีขึ้นจริงๆ ไม่ได้ต้องการบอกว่าเป็นหัวหน้าแล้วจะตำหนิลูกน้องตนเองไม่ได้ ตำหนิได้แต่ก็คงต้องมีศิลปะหน่อย เพื่อไม่ให้เขารู้สึกแย่จนเกินไป ในทางตรงกันข้าม ถ้าพนักงานที่มีผลงานไม่ดี แต่รู้สึกว่าหัวหน้างานของตนนั้นให้ความใส่ใจ และแคร์ความรู้สึกของพนักงานอย่างจริงใจแล้ว แม้ว่าจะถูกตำหนิ แต่ก็จะเข้าใจเหตุผลว่าทำไมหัวหน้าถึงต้องทำแบบนั้น บางคนถึงกับพยายามที่จะพัฒนาตนเองเพื่อทำผลงานให้ดีขึ้นจริง ๆ แค่เพียงหัวหน้า “เอาใจลูกน้องมาใส่ใจเรา” บ้าง

2.ให้เกียรติ และให้การยอมรับ

              โดยปกติคนเราทุกคนย่อมต้องการการยอมรับจากบุคคลอื่น ๆ อยู่แล้วโดยธรรมชาติ ดังนั้น ถ้าเราเป็นหัวหน้าที่อยากได้ใจของลูกน้อง สิ่งที่ต้องทำก็คือ การให้เกียรติลูกน้องของเรา รวมทั้งให้การยอมรับลูกน้องของเราในสิ่งที่เขามีเขาเป็น การให้เกียรติก็คือ เรื่องอะไรที่เป็นเรื่องส่วนตัวของเขา เราก็ไม่ควรเอามาพูดในที่สาธารณะ การพูดจากับลูกน้องด้วยน้ำเสียงที่จริงใจ ไม่เสียดสีประชดประชัน (หัวหน้าบางคนเก่งมากในเรื่องนี้) และปฏิบัติต่อลูกน้องเหมือนเขาเป็นครอบครัวเดียวกับเรา ให้การยอมรับเขาในฐานะทีมงาน ยอมรับเขาว่าเป็นส่วนหนึ่งของทีม เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จของทีม ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ต้องเริ่มจากตัวหัวหน้าก่อนทั้งสิ้น ง่าย ๆ ก็โดยการทักทาย พูดคุย ถามทุกข์สุข ถ้าทำผลงานได้ดีก็ชมเชยบ้าง หรือผลงานออกมาไม่ดี ก็สอบถามว่าจะให้ช่วยอะไรได้บ้าง ฯลฯ ลูกน้องก็จะรู้สึกว่าหัวหน้าให้การยอมรับเขา ให้ความใส่ใจ ให้เกียรติเขาในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของทีมงาน เมื่อพนักงานรู้ถึงการยอมรับอันนี้ พลังในการทำงาน ความใส่ใจในงานก็จะมีมากขึ้น

3.ให้ความจริงใจ

              มีใครบ้างที่ไม่ชอบคนจริงใจกับเรา ลูกน้องเองก็เช่นกัน เขาเองก็ชอบหัวหน้างานที่จริงใจ ไม่มีอะไรลับหลังเขา ไม่ว่าจะเป็นการนินทาลูกน้องตัวเองให้หัวหน้างานคนอื่นฟัง การปฏิบัติต่อลูกน้องแบบต่อหน้าอย่างหนึ่ง ลับหลังอย่างหนึ่ง หรือพอลูกน้องทำงานได้ดี ก็ไม่มีคำชม หรือบางทีก็ชมแบบขอไปที ลองถามตัวเราในฐานะหัวหน้าก็ได้ว่า ถ้าเจอหัวหน้างานที่ชอบนินทาเราลับหลัง หรือ เอาดีเข้าตัวเอาชั่วให้เรา ฯลฯ แบบนี้เราจะทนทำงานได้ด้วยจริงๆหรือ

4.ให้ความเป็นธรรม

              ปกติถ้าหัวหน้างานมีลูกน้องมากกว่า 1 คน สิ่งที่หัวหน้าจะต้องระวังก็คือ เรื่องของการปฏิบัติตนไม่เป็นธรรม เราเองอาจจะรู้สึกว่าเป็นธรรม แต่ลูกน้องกลับมองว่าไม่เป็นธรรม เรื่องนี้เป็นเรื่องที่กระทบกับความรู้สึกของลูกน้องได้ง่ายมาก ในการวางตัว และการปฏิบัติต่อลูกน้องนั้น หัวหน้าจะต้องคิดให้ดี ถ้าเราทำแบบนี้กับคนนี้แล้ว ถ้าอนาคตเกิดกรณีแบบนี้กับคนอื่นล่ะ เราจะทำแบบนี้กับอีกคนหรือไม่ ถ้าคำตอบคือใช่ ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดีและเป็นธรรม แต่ถ้าคำตอบคือ “ถ้าเป็นลูกน้องคนนี้ฉันจะไม่มีทางทำแบบนี้เด็ดขาด” นั่นแสดงว่าท่านเองก็มีการเลือกปฏิบัติต่อลูกน้องตนเองแล้วล่ะ พนักงานเองไม่ชอบหัวหน้าที่เลือกปฏิบัติ หรือปฏิบัติต่อลูกน้องแบบแตกต่างกันนะ ลูกน้องคนโปรดทำผิด ก็พยายามปิดบังให้ เพื่อไม่ให้คนอื่นรู้ แต่พอลูกน้องที่ไม่ชอบขี้หน้าทำผิดบ้าง ก็ประจานและลงโทษอย่างรุนแรง ลักษณะแบบนี้ไม่มีลูกน้องที่ไหนชอบเหมือนกัน

5.รับฟังอย่างเข้าใจ

              ทักษะเรื่องของการฟังนี้จะว่าง่ายก็ง่าย หรือจะว่ายาก มันก็ยากนะ การฟังที่ดีก็คือฟังแล้วต้องไม่สรุปเอาเอง หรือเอาประสบการณ์ของเราเข้าไปตัดสินคนอื่น ต้องฟังอย่างเป็นกลาง และฟังอย่างเข้าใจลูกน้องของตน ว่าทำไมเขาถึงพูดแบบนั้น หัวหน้าส่วนใหญ่ชอบพูดมากกว่าฟังอยู่แล้ว เพราะมองว่าตนเองเป็นหัวหน้าต้องเก่งกว่า ต้องพูดมากกว่า มิฉะนั้นแล้วจะสู้ลูกน้องไม่ได้ แต่แนะนำว่าฟังให้เยอะไว้น่าจะดีกว่านะ เพราะเราจะกลายเป็นหัวหน้าที่เข้าใจลูกน้องได้ดีกว่าหัวหน้าที่พูดอย่าง เดียว ลูกน้องเองก็จะรู้สึกว่าหัวหน้าให้ความใส่ใจ และเปิดใจรับฟังเขาอย่างเข้าใจจริง ๆ

              เคยเจอมั้ย ว่าบางครั้งเรานั่งฟังลูกน้องบ่น ระบายความในใจ และคอยพยักหน้า คอยใช้คำเสริมเช่น “อืม” “หรอครับ” “แล้วยังไงต่อ” ฯลฯ พร้อมทั้งสบตาคนพูดไปด้วยความตั้งใจ พอลูกน้องพูดจบ เขาก็ยิ้มแล้วก็บอกว่า “มาคุยกับพี่แล้วรู้สึกดีจัง เพราะทำให้รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร ขอบคุณมากนะคะที่ให้เวลารับฟังและให้คำปรึกษาที่ดี” แล้ว ก็เดินยิ้มอย่างสบายใจออกจากห้องเราไป ทั้ง ๆ ที่เรายังไม่ได้พูด และยังไม่ได้ให้คำปรึกษาอะไรกับเขาเลย เห็นมั้ยว่า คนเราทุกคนต้องการให้คนที่เขารู้สึกว่าเป็นที่พึ่งให้เขาได้นั้น รับฟังเขาอย่างเปิดใจ และเข้าใจ แค่นั้นเอง

 

 

ที่มา jobsdb.com