สัญญาจำกัดสิทธิ ที่นายจ้างได้เปรียบลูกจ้างเกินสมควร

          การที่มีสัญญาที่จำกัดสิทธิ ที่นายจ้างได้เปรียบลูกจ้างเกินสมควร เช่น ตกลงให้ลูกจ้างไปฝึกงานต่างประเทศโดยนายจ้างออกค่าใช้จ่ายใจำนวนหนึ่ง แต่ต้องมากลับมาทำงานชดใช้หลายปี ลูกจ้างทำงานกลับมาทำงานได้ไม่ครบแล้วจึงได้ลาออก หากจำนวนเงินและจำนวนระยะเวลาปี ไม่สัมพันธ์กัน เกินสมควรมากเกินไป แม้จะเป็นการผิดสัญญา ต้องใช้ค่าเสียหายก็ชดใช้เพียงบางส่วน เท่านั้น มิใช่คิดค่าเสียหายตามที่ระบุไว้ในสัญญา

 

 มีตัวอย่างคดีหนึ่ง

          ศาลตัดสินว่า การที่โจทก์นายจ้าง ลงทุนส่งจำเลย ลูกจ้างไปฝึกงานที่บริษัทแม่ของโจทก์ที่ประเทศญี่ปุ่นด้วยการออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดให้ นับเป็นทางหนึ่งในการพัฒนาบุคลากรของโจทก์ ทั้งการฝึกงานดังกล่าวไม่ว่าโจทก์หรือจำเลยต่างฝ่ายต่างได้รับประโยชน์ด้วยกัน ถือได้ว่าเป็นสัญญาต่างตอบแทน ประกอบกับข้อตกลงที่กำหนดให้จำเลยต้องกลับมาทำงานให้แก่โจทก์ มิฉะนั้นต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายในการฝึกงานคืนโจทก์พร้อมเบี้ยปรับ มีลักษณะเป็นการปกป้องกิจการของโจทก์

          นอกจากนี้ จำเลยสามารถเลือกได้ว่าจะกลับมาทำงานให้แก่โจทก์ หรือชดใช้ค่าใช้จ่ายในการฝึกงานคืนโจทก์พร้อมเบี้ยปรับ จึงมิได้เป็นการปิดโอกาสและความสามารถในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพการงานอื่นโดยเด็ดขาด แต่จำเลยไปฝึกงาน 2 ปี มีค่าใช้จ่ายในการฝึกงานเพียง 2,264,614 บาท ข้อตกลงที่กำหนดให้จำเลยต้องกลับมาทำงานให้แก่โจทก์ในตำแหน่งและหน้าที่ที่โจทก์กำหนดเป็นเวลาถึง 10 ปี จึงนานเกินสมควร

          เป็นข้อตกลงที่ทำให้จำเลยต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติ พิเคราะห์ทางได้เสียชอบด้วยกฎหมายของโจทก์และจำเลยแล้ว จึงให้ข้อตกลงดังกล่าวมีผลบังคับได้เพียง 6 ปี เท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง

          จำเลยสมัครใจเข้าทำสัญญาการฝึกงานระยะยาวที่ประเทศญี่ปุ่นกับโจทก์ แสดงว่าเป็นสัญญาที่อยู่บนพื้นฐานนิติสัมพันธ์จ้างแรงงาน ถือว่าเป็นสัญญาที่เกี่ยวเนื่องหรือเกิดขึ้นเนื่องจากการจ้างแรงงานที่อยู่กายใต้บังดับ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541มาตรา 14/1 และเมื่อได้วินิจฉัยข้างต้นมาแล้วว่า ข้อตกลงในสัญญาการฝึกงานระยะยาวที่ประเทศญี่ปุ่น ข้อ 3 ที่กำหนดให้จำเลยต้องกลับมาทำงานให้แก่โจทก์ในตำแหน่งและหน้าที่ที่โจทก์กำหนดเป็นเวลาถึง 10 ปี เป็นข้อตกลงที่ทำให้จำเลยต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติ สถานะของโจทก์ย่อมเหนือกว่าจำเลย

          กรณีจึงเป็นสัญญาที่ทำให้นายจ้างได้เปรียบลูกจ้างเกินสมควร จึงให้สัญญาคังกล่าวมีผลใช้บังคับเพียง 6 ปี เท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรตาม มาตรา 14/1

คำพิพากษา ศอ.คดีชำนัญพิเศษที่ ๗๗๗/๒๕๖๓

 

ที่มา Narongrit Wannaso