ศุกร์ลา – จันทร์ลา ป่วยทุกหัวท้ายสัปดาห์

          การออกกฎห้ามลาป่วยคร่อมวันหยุดเป็นเรื่องที่หลายบริษัทพิจารณาใช้เพื่อลดปัญหาการลาในช่วงที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานขององค์กร หลายบริษัทคงเคยเจอกับพฤติกรรมของการลาป่วยคร่อมวันหยุดของลูกจ้างมาบ้าง นายจ้างหลายรายเลยแก้ปัญหาด้วยการออกกฎระเบียบว่า ห้ามลาป่วย ปิดหัวปิดท้าย หรือ ลาคั่นกลางวันหยุด หรือคร่อมวันหยุด จึงเป็นประเด็นที่น่าพิจารณาว่าระเบียบข้อบังคับดังกล่าว ใช้บังคับได้ตามกฎหมายหรือไม่

         กฎระเบียบดังกล่าวขัดกับกฎหมาย บังคับใช้ไม่ได้ มีผลเป็นโมฆะ เพราะ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานมาตรา 32 กำหนดว่า “ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง...” หากลูกจ้างเจ็บป่วยจริงก็ไม่มีปัญหาอะไรลาป่วยได้ แต่หากปรากฏว่านายจ้างสืบหาข้อเท็จจริงแล้วพบว่าลูกจ้างลาป่วยเท็จ นายจ้างก็ลงโทษได้ ถ้าลาป่วยเท็จติดต่อกัน 3 วันทำงานไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ นายจ้างก็เลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ตาม พรบ.คุ้มครองแรงงานมาตรา 119(5) (อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 5968/2530)


         หากบริษัทพบปัญหาการลาป่วยคร่อมวันหยุดบ่อยครั้ง  อาจใช้แนวทางอื่นที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิทธิลาป่วยของพนักงาน เช่น

  1. สร้างวัฒนธรรมการทำงานที่โปร่งใส ให้พนักงานเข้าใจถึงความสำคัญของการมาทำงานและผลกระทบต่อทีมงานในกรณีที่ขาดงานบ่อยครั้ง
  2. ติดตามและวิเคราะห์ข้อมูลการลาป่วย เพื่อระบุแนวโน้มที่ชัดเจน หากพบว่ามีพนักงานกลุ่มหนึ่งลาป่วยในลักษณะเดียวกันบ่อยๆ ควรมีการสื่อสารและตรวจสอบเพิ่มเติม
  3. สนับสนุนสุขภาพจิตและสุขภาพกายของพนักงาน เน้นการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่เอื้อต่อสุขภาพที่ดี เพื่อให้พนักงานไม่รู้สึกกดดันในการทำงาน

 

ที่มา คลินิกกฎหมายแรงงาน