ในองค์กรหนึ่ง ๆ ย่อมมีพนักงานที่มีพื้นฐานชีวิตหลากหลายแตกต่างกัน การจะทำงานร่วมงานกันให้ได้อย่างราบรื่นจึงต้องอาศัยการปรับตัวเข้าหากัน ต่างคนต่างพยายามปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนร่วมงาน ก็จะทำให้เข้าใจกันและลดปัญหาความขัดแย้งลงได้
ถ้าเราพยายามเข้าใจคนละแต่ละประเภทและพยายามปรับตัวให้เข้ากันได้ ผลงานก็จะดีมีประสิทธิภาพเป็นประโยชน์ต่อองค์กร ที่สำคัญการที่ไม่ต้องมีเรื่องขุ่นใจกับใครก็จะทำให้ตัวเราเองมีความสุขในการทำงานด้วย
น้องบีพลัส ขอแนะนำวิธีปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนร่วมงาน 9 ประเภท
1. ยืนหยัดเป็นฝ่ายค้าน
กลัวการเปลี่ยนแปลง จึงต้องคัดค้านเอาไว้ก่อน เช่น เมื่อการเสนอความคิดใหม่ ๆ ก็จะปฏิเสธและเลือกที่จะใช้รูปแบบเดิมมากว่า เช่น ให้พิมพ์งานด้วยคอมพิวเตอร์ก็มักจะบอกว่าเขียนเอาก็ได้ ให้ส่งอีเมลก็ยืนยันที่จะส่งทางไปรษณีย์ เป็นต้น
วิธีรับมือ ให้เวลาเขาได้เรียนรู้ประโยชน์ของที่สิ่งเปลี่ยนแปลง เพื่อให้เขาค่อย ๆ ยอมรับและเริ่มเปลี่ยนแปลงด้วยตัวของเขาเอง
2. เช้าชามเย็นชาม
ทำงานแบบย่ำอยู่กับที่ เรื่อย ๆ ไปวัน ๆ อาจเป็นเพราะความเคยชินที่ทำงานแบบเดิม ๆ แล้วรู้สึกว่าปลอดภัยดี จึงไม่คิดปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงอะไร
วิธีรับมือ เสนอหัวหน้าให้ส่งเขาไปอบรมสัมมนาหาความรู้ใหม่ ๆ เพื่อเปิดโลกทัศน์ ผลงานจะได้ดีขึ้น ในขณะเดียวกันก็ต้องคอยให้กำลังใจเขาด้วย เพราะการเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้ค่อนข้างทำได้ยาก
3. แยกเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัวไม่ออก
คนบางคนอาจมีปัญหาที่บ้าน ทำให้ไม่สบายใจ กลายเป็นคนเก็บตัว หรือกลายเป็นคนขี้หงุดหงิด จนพาลมีเรื่องกับคนอื่นโดยไม่รู้ตัว หรือบางคนมีเรื่องขุ่นเคืองกับคนในที่ทำงาน พาลให้ไม่อยากทำงานไปด้วย
วิธีรับมือ พยายามให้ทั้งสองฝ่ายมาตกลง ทำความเข้าใจกัน เพื่อจะได้ร่วมงานกันต่อไปอย่างราบรื่น
4. ไม่มั่นใจในตัวเอง
บางคนมีความคิดดีแต่ไม่กล้าแสดงออก กลัวว่าจะไปล้ำเส้นใครเข้า หรือกลัวว่าถ้าทำผิดพลาดแล้วจะถูกตำหนิ เมื่อคิดแบบนี้จึงไม่กล้าพูดอะไร ได้แต่คอยรับคำสั่งเท่านั้น
วิธีรับมือ คอยให้กำลังใจ ส่งเสริมให้เขาทำในสิ่งที่ดี พยายามให้เขาแสดงความคิดเห็นในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก่อน ชมเชย เพื่อให้เขามีกำลังใจ และกล้าแสดงความคิดเห็นต่อๆ ไป หากเขาทำผิดก็ช่วยแก้ไข ไม่ตำหนิ หรือซ้ำเติม
5. เหลี่ยมจัด ลอบกัด ปัดความรับผิดชอบ
เล่ห์เหลี่ยมแพรวพราว ต่อหน้าอย่างลับหลังอีกอย่าง ชอบนักเรื่องเอาความดีใส่ตัวแล้วโยนความชั่วให้คนอื่น ถ้าต้องร่วมงานด้วยควรระวังให้มาก เพราะอาจถูกแทงข้างหลังเป็นแผลเหวอะหวะ หรืออาจเจอเล่ห์กลทำให้งานของเขากลายเป็นงานของเราได้ง่ายๆ
วิธีรับมือ เข้าใกล้เท่าที่จำเป็นต้องร่วมงานด้วย ทำงานของตัวเองให้ดีที่สุด และต้องมีหลักฐานว่า เราทำอะไร เขาทำอะไร และร่วมกันอย่างไร
6. หลงตัวเอง เก่งคนเดียว
มักคิดว่าไม่มีใครฉลาดเท่า และไม่มีใครทำงานแทนได้ จึงไม่ยอมแบ่งงานหรือทำงานร่วมกับใคร รวมทั้งไม่ชอบฟังคำแนะนำจากใครด้วย
วิธีรับมือ พยายามปรับตัวเราให้ทำงานร่วมกับเขาได้ พยายามชื่นชมในความเก่งของเขา โดยไม่แสดงอาการไม่พอใจออกมา
7. หนักไม่เอา เบาไม่สู้
ชอบผัดวันประกันพรุ่ง กินแรงคนอื่นประจำ ไม่ยอมเสียสละเพื่อใคร หลบได้เป็นหลบ เลี่ยงได้เป็นเลี่ยง
วิธีรับมือ พยายามพูดว่าเขาทำงานดี เพื่อให้เขาได้แสดงฝีมือบ้าง ในทางกลับกันอย่าไปว่าเขาเชียวล่ะ เพราะยิ่งว่าเขาก็จะยิ่งไม่ยอมทำอะไรมากขึ้น
8. ขี้โมโห
ถ้าเรามีเพื่อนร่วมงานประเภทโกรธง่ายหายเร็ว เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ไม่พอใจอะไร ไม่ว่าเรื่องเล็กหรือใหญ่ก็แสดงอาการออกมาโดยไม่คิดถึงจิตใจผู้อื่น
วิธีรับมือ เวลาที่เขาแสดงอาการฉุนเฉียว อย่าพยายามเถียงหรือให้เหตุผล เพราะถึงอย่างไรเขาก็ไม่รับฟังเราหรอก ถ้าอยากจะเตือนเขา ต้องพูดตอนเขาอารมณ์ดี ๆ
9. ขาดมนุษยสัมพันธ์
จะตรงไปตรงมา คิดอย่างไรพูดอย่างนั้น แบบขวานผ่าซาก ถึงแม้จะมีเจตนาดี แต่ว่าแสดงออกไม่เป็น ทำให้คนอาจเข้าใจผิดคิดว่าเย่อหยิ่ง ไม่อยากคบ ไม่อยากร่วมงานด้วย
วิธีรับมือ ยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น พยายามมองส่วนดีของเขา และมองข้ามเรื่องขุ่นใจเล็ก ๆ น้อย ๆ จากคำพูดของเขา เพื่อสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน
ที่มา JobsDB