ลงเวลาแทนกัน ไม่จ่ายค่าชดเชยได้หรือไม่ ?

 

ยกตัวอย่างเหตุการณ์

A จะไปติดต่อลูกค้านอกบริษัทในช่วงบ่าย ซึ่งคิดว่าตอนเย็นรถคงติดมาก น่าจะกลับมารูดบัตรออกตอนเย็นที่บริษัทไม่ทันแน่แถมบริษัทลูกค้าที่จะไปติดต่อก็อยู่ทางเดียวกับบ้าน A ไม่อยากย้อนไปย้อนมา

A ก็เลยฝากบัตรไว้ที่ B ให้ช่วยรูดบัตรตอนเย็นแทนให้ที เพราะฉันจะไปติดต่องานกับลูกค้าแล้วจะเลยกลับบ้านไปเลย B ก็จัดการรูดบัตรแทนให้ A

ปรากฏว่า รปภ.เห็นว่า B รูดบัตรแทนให้เพื่อนก็เลยแจ้งมาที่ฝ่ายบุคคล และหัวหน้าของ A และ B ทั้งฝ่ายบุคคล และหัวหน้าของ A และ B ก็เรียกทั้ง 2 คนมาสอบถาม แล้วทั้ง 2 คนก็เล่าไปตามตรง พร้อมทั้งบอกว่าตัวเองไม่ได้ทุจริตเลย

แต่ฝ่ายบุคคลและหัวหน้าของทั้ง 2 คนก็มีข้อสรุปตรงกันว่าทั้ง A และ B ทำผิดกฎระเบียบและทุจริตต่อหน้าที่ ด้วยการรูดบัตรลงเวลาแทนกันถือเป็นความผิดร้ายแรงก็เลยทำเรื่องไปถึงกรรมการผู้จัดการ ทำหนังสือเลิกจ้างทั้ง 2 คนโดยไม่จ่ายค่าชดเชยใด ๆทั้งสิ้น เพราะทั้ง 2 คนทำผิดร้ายแรงเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างกับพนักงานคนอื่น

 

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา ฎ.3095/2537 

“การตอกบัตรแทนกันช่วงเลิกงานไม่ได้ค่าจ้างเพิ่ม นายจ้างไม่เสียหาย แต่เป็นการผิดข้อบังคับการทำงานเท่านั้น ไม่ใช่ความผิดร้ายแรง”

จากกรณีข้างต้นเมื่อดูข้อเท็จจริงแล้ว พนักงานทั้ง 2 คน มีความผิดในเรื่องรูดบัตรแทนกันแต่ความผิดนี้“ไม่ใช่ความผิดร้ายแรง” เพราะไม่ได้เป็นการทุจริต

ถ้าเลิกจ้างบริษัทก็ต้องจ่ายค่าชดเชย เพราะจากคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้น ศาลท่านดูตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นประกอบกันด้วย แม้บริษัทจะอ้างว่าในกฎระเบียบของบริษัทบอกว่าการลงเวลาแทนกันถือเป็นการทุจริต แต่ในข้อเท็จจริงทั้ง 2 คน ไม่ได้ทุจริต

ดังนั้นในกรณีนี้สิ่งที่บริษัทควรทำคือ บริษัทควรออกหนังสือตักเตือนพนักงานทั้ง 2 คนว่า ห้ามรูดบัตรลงเวลาแทนกันอีก ถ้ารูดบัตรแทนกันอีก บริษัทจะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย เพราะบริษัทได้เคยตักเตือนในเรื่องนี้ไว้แล้ว แล้วถ้าพบว่ามีการฝ่าฝืนผิดซ้ำคำเตือนนี้อีก บริษัทก็สามารถเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยครับ

 

แล้วแบบไหนที่บริษัทสามารถเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยในกรณีที่พนักงานลงเวลาแทนกันโดยเข้าข่ายทุจริต ?

ก็เช่นบริษัทสั่งให้ น.ส. A ทำงานล่วงเวลาตั้งแต่ 17.00-22.00 น. แต่พอถึงเวลาทำโอที น.ส. A กลับแวบไปดูหนังกับแฟนแล้วก็กลับบ้านไปเลยโดยไม่ได้มาทำโอที แล้วฝากบัตรให้ น.ส. B ช่วยรูดบัตรแทนให้ด้วย แล้วเอาค่าโอทีมาแบ่งกัน

อย่างนี้เข้าข่ายทุจริตเพราะรับเงินค่าโอทีของบริษัทไปแล้ว แต่ไม่ได้ทำงานให้บริษัทจริง แถมยังเอาเงินค่าโอทีมาติดสินบนเพื่อนให้รูดบัตรกลับบ้านแทนเสียอีก พฤติการณ์แบบนี้จะเข้าข่ายทุจริตต่อหน้าที่ และบริษัทสามารถเลิกจ้างทั้ง 2 คนได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงาน

 

ประเด็นหลักที่สำคัญในเรื่องนี้ก็คือ ให้ดูที่ข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร และข้อเท็จจริงนั้นเข้าข่ายทุจริตเป็นความผิดร้ายแรงจริงหรือไม่

 

 

ที่มา prachachat.net