“ปล่อยเงินกู้ในบริษัท” ระวังถูกเลิกจ้าง ไม่ได้ค่าชดเชยสักบาท

"ห้ามปล่อยกู้ ห้ามให้พนักงานยืมเงินกัน หากกรณีฝ่าฝืนถือว่าผิดวินัยร้ายแรง และมีโทษพ้นสภาพไม่ได้รับค่าชดเชย"
          หากนายจ้างออกกฎระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัท โดยให้ลูกจ้างอ่าน และเซ็นต์รับทราบทุกคน แต่หากมีพนักงานฝ่าฝืน มีการขอยืมเงินกัน นายจ้างจะสามารถเลิกจ้างได้หรือไม่
          การยืมเงินต้องแบ่งเป็น 2 กรณี  คือ

  • ให้คนอื่นยืมแล้วทำให้เขาเดือดร้อน
  • ให้คนอื่นยืมแต่เขาไม่เดือดร้อน


         การปล่อยเงินกู้ในบริษัทต้องทำตามกฎหมายให้ถูกต้อง เพื่อป้องกันความขัดแย้งและความเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อการทำงาน   การคิดดอกเบี้ยในอัตราเท่าใด หากคิดในอัตราที่ไม่เกินที่กฎหมายกำหนด หรือไม่คิดดอกเบี้ยเลยแม้จะมีข้อบังคับห้ามก็สามารถทำได้ แต่ถ้าคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดย่อมเป็นการผิดวินัย อีกทั้งยังเป็นการทำผิดอาญาตาม พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ อีกด้วย
         เคยมีคดี ที่นายจ้างสั่งห้ามไม่ให้ปล่อยเงินกู้นอกระบบในบริษัทแล้ว แต่ลูกจ้างยังฝ่าฝืนปล่อยเงินกู้นอกระบบให้เพื่อนร่วมงานกู้ยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 10 ต่อเดือน อันเป็นการกระทำความผิดอาญาตาม พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ แม้จะมิใช่เป็นการกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง แต่ก็เป็นการกระทำความผิดอาญาในระหว่างการทำงาน ทั้งยังเป็นการเอาเปรียบและสร้างความเดือดร้อนให้แก่เพื่อนร่วมงานซึ่งเป็นผู้ใช้แรงงานส่งผลกระทบต่อกำลังใจในการทำงาน ย่อมทำให้กิจการของนายจ้างได้รับความเสียหาย
         การกระทำของลูกจ้างจึงเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของนายจ้างในกรณีร้ายแรง และเป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย นายจ้างจึงเลิกจ้างลูกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

 

ที่มา  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5978/2549

ที่มา  กฎหมายแรงงาน