เคยสังเกตตัวเองกันบ้างไหมเวลาที่เราได้บอกปฏิเสธเรื่องอะไรบางอย่าง เรากลับรู้สึกดีอย่างไม่น่าเชื่อ บางครั้งความสุขของชีวิตก็ง่ายๆ แค่นี้เองแค่ได้ Say no กับบางเรื่องที่เราลำบากใจหรือไม่อยากทำ
แต่ก่อนจะบอกปฏิเสธเราอาจจะต้อง
• ตั้งใจฟังความต้องการของอีกฝ่าย ต้องเข้าใจให้แน่ชัดว่าเขาต้องการอะไรจากเรา แล้วเราพอจะช่วยเหลือได้ไหม ตัดสินใจให้แน่นอนก่อนพูด ชั่งใจให้ดีถ้าปฏิเสธแล้วรู้สึกผิดก็ Say yes รับมา แต่ถ้าดูแล้วลำบากใจหรือเกินกำลังก็ปฏิเสธ Say no พร้อมชี้แจงสั้นๆ (ที่ต้องบอกว่าสั้นๆ เพราะอีกฝ่ายจะหูดับ ไม่อยากรับรู้อะไรหลังจากที่เราปฏิเสธไปแล้ว)
• รู้ลำดับความสำคัญของธุระตัวเอง ตระหนักรู้ตัวเองว่ามีธุระอะไรบ้างที่ต้องจัดการให้เสร็จ แต่ละอย่างเร่งด่วนแค่ไหน ข้อนี้จะทำให้ประเมินได้ว่าเราควรตอบรับหรือปฏิเสธดี ถ้าเราตอบรับแล้วทำให้เสียธุระของตัวเองด้วยหรือเอาเรื่องของคนอื่นมาเป็นกังวล แถมพาเรื่องที่รับมาแล้วเสียไปด้วยก็คงไม่ดี
ระหว่างการบอกปฏิเสธ
• เพราะว่าการตอบรับหรือปฏิเสธจะกำหนดอารมณ์ และบรรยากาศของทั้ง 2 ฝ่าย ฉะนั้นถ้าต้องการบอกปฏิเสธ ต้องบอกปฏิเสธให้ชัดเจน อย่าให้ความหวังด้วยการบอกว่าขอดูก่อน ไม่แน่ใจ เพราะคนฟังจะเผื่อใจด้วยความหวัง พอมาโดนปฏิเสธทีหลังยิ่งจะทำให้รู้สึกแย่กว่าเดิม คือ ทำให้เขาเสียเวลารอคำตอบเพื่อมาฟังคำปฏิเสธตอนหลัง สู้บอกว่าไม่มาตั้งแต่แรกยังดีกว่า ส่วนโทนการบอกก็แล้วแต่เทคนิคแต่ละคนว่าจะมีวิธีรักษาน้ำใจอีกฝ่ายอย่างไร แต่ต้องสื่อสารชัดๆ ให้รู้ว่าเรากำลังปฏิเสธอยู่ ไม่อ้อมไปอ้อมมา เพราะบางคนก็ไม่สามารถตีความได้ว่าโดนปฏิเสธอยู่ ที่สำคัญอย่าเงียบไปเฉยๆ เพราะว่าการเงียบไปไม่ตอบ ไม่พูด จะยิ่งดูเสียมารยาทมากกว่า
หลังการบอกปฏิเสธ
• เมื่อปฏิเสธไปแล้ว อย่าเก็บมาคิดวนซ้ำๆ ว่าเราน่าจะช่วย เราน่าจะรับมา เพราะการคิดวนส่งผลให้เรามีแนวโน้มเปลี่ยนใจ สุดท้ายก็ไม่พ้นการ Say yes ในแบบไม่เต็มใจตั้งแต่แรก (เพราะถ้าเต็มใจคงรับมาแต่แรกไม่ต้องมานั่งคิดวนๆ no yes no) ทีนี้รับมาแล้วก็อาจจะรู้สึกว่าไม่น่าเลยจริงๆ ปฏิเสธไปแล้วยังกลับไปรับมาอีก บางครั้งการคิดไม่ตกจะทำให้เรามีความสุขน้อยลง แทนที่เราจะเดินหน้าไปสนใจอย่างอื่น กลับต้องมาคิดเรื่องเดิมซ้ำๆ เพราะฉะนั้นจึงได้บอกไปตั้งแต่ข้อแรกว่าต้องคิดให้ดีก่อนจะ Say yes / Say no ออกไป
ที่มาและเรียบเรียงโดย คุณแปม เพจ The People Skills