เรื่องนี้ต้องแบ่งประเด็นพิจารณาตามกรณีข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ว่านายจ้าง Post ว่าอย่างไร แต่ในกรณีนี้สิ่งที่นายจ้าง Post คือ "นางสาว A ได้พ้นสภาพพนักงานในข้อหาส่อทุจริต โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่..... เป็นต้นไป"
1. หากเป็นกรณีนี้ จะเขียนเช่นนั้นไม่ได้ เพราะอาจจะเข้าข่ายหมิ่นประมาท ต่อให้นางสาว A จะมีพฤติการณ์ไปในทางส่อทุจริตจริงก็ตาม
ปล.แล้วถ้านางสาว A ผิดจริงยังเป็นหมิ่นประมาทหรือไม่ ต้องทราบก่อนว่าการหมิ่นประมาท คือ การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้น เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ซึ่งการ Post ข้อความที่เป็นความผิดในข้อหาหมิ่นประมาทจะเป็นเรื่องเท็จหรือเรื่องจริงก็ได้..
2. หากบริษัทต้องการประกาศเพื่อให้ลูกค้ารับทราบและไม่หลงทำนิติกรรมหรือโอนเงินผิดไปให้พนักงานคนดังกล่าว ควรใช้ข้อความเท่าที่ชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนเอง เช่น "นางสาว A พ้นสภาพแล้วตั้งแต่วันที่..." เท่านั้น ไม่ต้องใส่ข้อหาหรือเหตุผลที่เลิกจ้าง
การที่นายจ้างต้องการใช้สิทธิ์เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเองสามารถทำได้ แต่ต้องตรวจสอบถ้อยคำ ให้ชัดเจนและเป็นการป้องกันตามสมควร อย่าใช้เพียงอารมณ์ เพราะมันอาจทำร้ายชีวิตใครมากกว่าที่คิด ในทางตรงกันข้ามหากพิสูจน์ได้ว่าลูกจ้างทุจริตและประสงค์ดำเนินคดีก็ให้ใช้สิทธิ์ตามกฎหมาย การใช้เพียงอารมณ์มีแต่สร้างความสูญเสียให้เกิดขึ้นทั้งสองฝ่าย
ที่มา เพจ คลินิกกฎหมายแรงงาน