แม้สัญญาจ้างระหว่างลูกจ้าง กับนายจ้างจะครบกำหนดระยะเวลาการจ้าง แต่เมื่อครบกำหนดแล้วนายจ้างยัง คงให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและนายจ้างยังคงจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง ต้องถือว่าการจ้างแรงงานช่วงหลังเป็นการจ้างที่ไม่ได้กำหนดเวลาจ้างที่แน่นอนไว้
เมื่อนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง นายจ้างจึงต้องรับผิดจ่าย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 582 (ฎ.3589-3592/2561)
ไม่ต่อสัญญาจ้างถือเป็นการเลิกจ้างต้องจ่ายค่าชดเชย
ก่อนสัญญาจ้างแรงงานครบกำหนดมีการเจรจาต่อสัญญาจ้างระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ลูกจ้างต้องการต่อสัญญาอีก 1 ปี
แต่นายจ้างต้องการต่อสัญญาอีก 6 เดือน โดยทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ และไม่ได้มีการทำสัญญาหรือต่อสัญญาออกไป เมื่อสัญญาจ้างมีกำหนดระยะเวลาเอาไว้ กรณีจึงถือว่าเป็นการเลิกจ้างเพราะสัญญาจ้างสิ้นสุด
สอดคล้องกับความหมายของคำว่า "เลิกจ้าง" ที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดเอาไว้ในมาตรา 118 วรรคสอง
นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าชดเชย โดยต้องนำเอาระยะเวลาที่ทำกันปีต่อปีทุกฉบับมารวมกัน เพื่อคำนวณค่าชดเชย
ข้อสังเกต
ในสัญญาหลายฉบับมักเขียนมักมีการกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดเอาไว้แน่นอน และมักจะเข้าใจว่าสัญญามีกำหนดระยะเวลาแน่นอนไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด
เพราะแม้มีกำหนดระยะเวลาแน่นอน แต่ต้องมีองค์ประกอบเพิ่มเติมว่าต้องเป็นงานอย่างใดอย่างหนึ่งใน 3 อย่างนี้ คือ
ก) งานตามโครงการที่ไม่ใช่ปกติธุรกิจของนายจ้าง
ข) งานตามฤดูกาล
ค) งานที่ทำเป็นครั้งคราว
มีกำหนดการจ้างกันไม่เกิน 2 ปี
ที่มา คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ 147/2563
ที่มา Narongrit Wannaso และ เพจกฎหมายแรงงาน