รีครูทเมนท์หรือการสรรหาบุคลากรเข้าทำงานนั้น เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบงานด้านทรัพยากรบุคคล ซึ่งเป็นงานที่มีความสำคัญต่อความสำเร็จหรือความล้มเหลวในการดำเนินงานขององค์กร ดังนั้นขั้นตอนหรือวิธีการสรรหาและคัดเลือกบุคลากรจึงต้องดำเนินการอย่างจริงจังมีแบบแผน มีหลักเกณฑ์และมีความยุติธรรม เพื่อให้ได้มาซึ่งบุคลากรที่มีความสามารถและเหมาะสมกับงานที่องค์กรต้องการมากที่สุดเข้ามาร่วมงาน
เนื่องจากบุคลากรเปรียบเสมือนกับฟันเฟืองที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรให้เดินไปข้างหน้า ถ้าขาดฟันเฟืองไปก็อาจจะทำให้ธุรกิจของคุณเดินหน้าต่อไปไม่ได้ ในทางตรงกันข้ามถ้าได้ฟันเฟืองที่ดีมีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ ก็จะทำให้ธุรกิจของคุณก้าวหน้าและประสบความสำเร็จได้เช่นกัน ซึ่งฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) ถือเป็นหน่วยงานสำคัญที่จะทำหน้าที่สรรหาและคัดเลือกบุคลากรที่ดีมีคุณภาพเข้ามาทำงาน แต่ถ้าองค์กรไหนไม่ได้ให้ความสำคัญกับการรีครูทเมนท์หรือการสรรหาบุคลากร ก็จะทำให้ได้บุคลากรที่ไม่มีความสามารถ ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้เกิดผลเสียกับงานและองค์กรได้
"รีครูทเมนท์" คืออะไร? และมีความสำคัญอย่างไรต่อองค์กรของคุณ
คือ กระบวนการในการค้นหาตลอดจนคัดเลือกบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ และมีทักษะที่เหมาะสมเพื่อเข้ามาปฎิบัติงานในตำแหน่งงานตามที่องค์กรต้องการ ซึ่งกระบวนการนี้จะเริ่มต้นตั้งแต่การวางแผน การสรรหาและคัดเลือก การสื่อสารให้เกิดแรงจูงใจกับผู้สมัครงานที่เป็นเป้าหมาย และจะสิ้นสุดกระบวนการนี้ก็ต่อเมื่อองค์กรได้รับบุคคลนั้นๆ เข้าไปเป็นพนักงานในองค์กรแล้ว
กระบวนการที่ควรนำมาพิจารณาในการสรรหาบุคลากร คือ
1. การวางแผนทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Planning)
2. ความต้องการหรือการร้องขอของผู้จัดการ (Specific requests of managers)
3. การระบุตำแหน่งงานที่จะรับบุคลากรใหม่ (Job opening identified)
4. รวบรวมสารสนเทศที่ได้จากการวิเคราะห์งาน (Job analysis information)
5. ข้อคิดเห็นของผู้จัดการ (Manager's comments) ข้อคิดเห็นของผู้จัดการจะเป็นตัวตรวจสอบให้การวิเคราะห์ข้อมูลทำด้วยความรอบคอบและลึกซึ้งมากขึ้น
6. กำหนดคุณสมบัติบุคลากรตรงกับงาน (Job requirement)
7. กำหนดวิธีการสรรหา (Methods of recruitment) ผู้สรรหาจะศึกษาแนวทางและแหล่งที่จะดำเนินการสรรหาพนักงาน
8. ความพึงพอใจที่ได้ผู้สมัคร (Satisfactory pool of recruits)
สาเหตุที่ต้องสรรหาบุคลากร
1. ตำแหน่งงานเดิมว่างลง บุคลากรที่ปฎิบัติหน้าที่เดิมลาออก, ถูกให้ออก, เกษียณอายุ, ประสบอุบัติเหตุจนไม่สามารถทำงานได้ หรือเสียชีวิตลง
2. เลื่อนหรือโยกย้ายตำแหน่งงาน บุคลากรได้รับการเลื่อนตำแหน่ง, หมุนเวียนตำแหน่ง, โยกย้ายหน่วยงาน หรือโยกย้ายสาขา
3. เพิ่มตำแหน่งงานใหม่ องค์กรต้องการตำแหน่งใหม่, ขยายแผนกหรือหน่วยงานใหม่, ตลอดจนหาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพิ่มเติม
4. ตั้งองค์กรใหม่ นอกจากจะสรรหาบุคลากรให้กับทั้งองค์กรแล้ว ยังต้องวางแผนเรื่องต่างๆ ตั้งแต่โครงสร้างของการบริการทั้งหมด, ความจำเป็นของตำแหน่งงานต่างๆ, หรือแม้แต่งบประมาณในการจัดจ้างทั้งหมด กรณีนี้ฝ่ายบุคคลอาจต้องใส่ใจมากกว่าสาเหตุอื่นๆ
ที่มา www.ascg.co.th