ถูกสั่งย้ายไปทำงานที่ไม่ถนัด ถือเป็นการบีบให้ลาออก อันเป็นการเลิกจ้างหรือไม่?

          การย้าย การสับเปลี่ยนตำแหน่ง ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง ที่นายจ้างไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้หากลูกจ้างไม่ยินยอม เว้นแต่ การเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่เป็นคุณกับลูกจ้าง นายจ้างจึงจะสามารถทำได้โดยไม่ต้องขอความยินยอม ซึ่งหลักเกณฑ์การย้ายหรือการเปลี่ยนตำแหน่งนั้น ต้องไม่เป็นการ

  1. ไม่ลดตำแหน่ง
  2. ไม่ลดเงินเดือน
  3. ไม่ลดสวัสดิการต่าง ๆ

          หากการย้ายตำแหน่งงานนั้น เงินเดือน สวัสดิการ หรืออำนาจบังคับบัญชาของลูกจ้างไม่ต่ำกว่าเดิมแล้ว ยังไม่ถือเป็นการบีบบังคับให้ลาออก อันเป็นการเลิกจ้าง ซึ่งหากไม่มีสัญญาหรือข้อตกลงบัญญัติไว้ว่าห้ามเปลี่ยนแปลงตำแหน่ง ก็ย่อมไม่ผูกมัดนายจ้างที่จะต้องให้ลูกจ้างทำงานในตำแหน่งเดิมตลอดไป 

          เมื่อนายจ้างมีคำสั่งย้ายโดยชอบแล้ว ลูกจ้างต้องปฏิบัติตามคำสั่งนั้น ลูกจ้างจะอ้างว่าไม่ถนัดงานนั้นไม่ได้ หากคิดในแง่ดี ก็ถือว่าลูกจ้างได้ประสบการณ์ในการเรียนรู้งานหลากหลายหน้าที่ ส่วนนายจ้างนั้น หากย้ายคนไปทำงานที่เขาไม่ถนัดไม่ชำนาญไม่เหมาะกับลูกจ้าง งานนั้นก็จะขาดประสิทธิภาพ ก็ย่อมส่งผลเสียหายแก่นายจ้างเอง ดังนั้น การย้ายที่จะมีผลดีต่อนายจ้าง ก็ต้องย้ายคนไปทำงานให้เหมาะสมแก่งาน จึงจะเกิดผลประโยชน์สูงสุดแก่นายจ้าง

 

 

ที่มา คลินิกกฎหมายแรงงาน