หลักในการพูดคุยกับนักบัญชีที่ส่งผลดีกับผู้ประกอบการ

สำหรับผู้ประกอบการนอกจากผลิตภัณฑ์หรือการบริการที่ต้องมุ่งพัฒนา เรื่องการเงินการบัญชีก็นับว่าเป็นฟันเฟืองสำคัญเช่นกันสำหรับการขับเคลื่อนธุรกิจ เพราะเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำธุรกิจ เรื่องกำไร ขาดทุน ต้นทุน ภาษี สถานะทางการเงิน งบหรือตัวเลขต่าง ๆ ก็นับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมากอยู่แล้ว คงไม่มีใครที่อยากจะขายของได้เยอะ แต่ก็ขาดทุนไปเรื่อย ๆ ใช่ไหมล่ะ เพราะฉะนั้นพวกเขาไม่ได้มีหน้าที่แค่เพียงจดบันทึก ตัวเลข คำนวณตัวเลขอย่างที่เราเคยเข้าใจ นักบัญชีต้องการทักษะที่ค่อนข้างหลากหลาย อย่างสิ่งที่สำคัญที่สุดคงไม่พ้นความซื่อสัตย์สุจริต ที่นับว่าทักษะ หรืออุปนิสัยที่สำคัญที่สุดสำหรับคนที่ดูแลในด้านนี้ ยังรวมถึงทักษะด้านการคำนวณ ความละเอียด ความรอบคอบ การตรวจสอบตั้งข้อสังเกต ตรงต่อเวลา และอีกมากมาย วันนี้เรามาดูกันว่าผู้ประกอบการควรพูดคุยกับนักบัญชีในประเด็นไหนกันบ้างเพื่อให้ได้ทั้งใจและได้ทั้งงานที่มีประสิทธิภาพไปในเวลาเดียวกัน

1. บอกความคาดหวังและเป้าหมายให้ชัดเจน

สำหรับนักบัญชีที่ต้องการทำงานกับตัวเลขซึ่งเชื่อมโยงถึงรายรับ รายจ่าย กำไร ภาษี งบ ต้นทุนของบริษัทและอีกมากมาย นับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งที่ทางเจ้าของการกิจการต้องชี้แจงความคาดหวัง หรือเป้าหมาย ในแต่ละงานให้ชัดเจนว่าต้องการอะไร เมื่อไหร่ และแบบไหน เพราะความเป็นจริงแล้ว เรื่องบัญชีก็นับว่าเป็นเรื่องที่กว้างมาก รายละเอียดก็เยอะ ผู้ประกอบการก็ควรชี้แจงให้ชัดเจน เพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ได้รายละเอียดที่ต้องการ และราบรื่นมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้นั่นเอง

2. สอบถามเพื่อทวนความเข้าใจ

หากมีการแจ้งความคาดหวังและเป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว เพื่อความถูกต้องและแม่นยำ ผู้ประกอบการเองควรซักถามเพื่อทบทวนว่าทางนักบัญชีเข้าใจสิ่งเหล่านั้นแล้วหรือยัง และเป็นความเข้าใจที่ตรงหรือตอบโจทย์ที่เราต้องการหรือไม่ เพราะการสอบถามจะทำให้เข้าใจในประเด็นการถามมากขึ้น นอกเหนือจากการบอกเล่าความคาดหวัง ที่สำคัญการถามคือการจัดระเบียบความต้องการของเราและความเข้าใจของอีกฝ่ายด้วย

3. ถามหาความคิดเห็นเพื่อประกอบการตัดสินใจ

ความเป็นจริงงานของนักบัญชีไม่ได้เป็นเพียงแค่การดูแลตัวเลขเรื่องรายรับรายจ่าย แต่พวกเขามีบทบาทสำคัญในการวิเคราะห์ตัวเลขเหล่านั้นอีกด้วย และยังรวมถึงการวิเคราะห์เกี่ยวกับกิจกรรมการดำเนินงาน นำสิ่งเหล่านั้นมาบันทึกและรายงาน ที่สำคัญนักบัญชีคือกลุ่มที่รู้สถานะและผลประกอบเป็นอย่างดีและการวิเคราะห์และคำแนะนำจากสิ่งเหล่านี้จากนักบัญชีนี่แหละ จะทำให้คุณเห็นปัญหาจากตัวเลขที่ค่อนข้างชัดเจน ซึ่งจะช่วยให้สามารถกำหนดนโยบาย ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขให้เหมาะสมกับบริบท ณ ขณะนั้น และเพื่อผลประโยชน์ที่สูงที่สุดสำหรับองค์กร

4. ให้นักบัญชีรักษาผลประโยชน์ของบริษัท

อย่างที่เรากล่าวไปในข้างต้น คุณสมบัติสำคัญของนักบัญชีอาจจะไม่ได้เป็นเพียงทักษะด้านการเงินหรือการบัญชีเท่านั้น แต่การรักษาผลประโยชน์ของบริษัทก็เป็นประเด็นต้นๆ ที่นักบัญชีพึงมี อย่างไรก็ตามทางฝั่งผู้ประกอบการเองก็ควรเรียนรู้ที่จะพูดคุยกับนักบัญชีให้เข้าใจในประเด็นนี้ เพราะนักบัญชีเองควรรู้ว่าผลประโยชน์ของบริษัทก็เป็นความรับผิดชอบสำคัญที่นักบัญชีควรดูแลและใส่ใจ เพราะบางครั้งเจ้าของเองอาจจะไม่สามารถดูแลหรือตรวจสอบได้ในทุกแง่มุม นักบัญชีเป็นเหมือนตำแหน่งที่ได้รับความไว้วางใจให้เข้ามาจัดการตัวเลขตรงนี้แล้วนั่นเอง

5. ให้กำลังใจและช่วยเหลืออย่างสม่ำเสมอ

เนื่องจากเป็นคนที่ต้องทำงานเกี่ยวกับตัวเลขตลอด ความผิดพลาดแต่ละครั้งย่อมสร้างผลกระทบ ที่บานปลาย นอกจากทักษะความรู้แล้ว พวกเขาและเธอจำเป็นต้องมีความอดทน มีความละเอียดรอบคอบ อีกทั้งยังเป็นกลุ่มคนที่แบกรับหน้าที่สำคัญขององค์กร แบกรับความเครียดและกดดันจากหลายฝ่ายอยู่ตลอด ยังไม่รวมถึงขีดจำกัดของเวลา และงานปริมาณมหาศาล เพราะฉะนั้นนอกเหนือจากการพูดคุยเรื่องงาน ผู้ประกอบการที่ดีควรมีการพูดคุยให้กำลังใจอย่างสม่ำเสมอ อาจจะเป็นพูดชมเชยเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานเป็นบางครั้งด้วยก็ย่อมได้

อย่างที่กล่าวไปในด้านบน งานของนักบัญชีนับว่าเป็นงานที่ค่อนข้างเครียดและมีความกดดันสูง เพราะดูแลเรื่องตัวเลขของทั้งบริษัท หลายครั้งยังตามมาด้วยเรื่องข้อจำกัดของเวลา ผู้ประกอบการควรเข้าไปพูดคุยและเสนอความช่วยเหลืออยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน เรื่องส่วนตัว เพราะจะทำให้ลดความตึงเครียดและเพิ่มความสบายใจในการทำงานได้ นับว่าเป็นอีกงานที่ต้องใช้ ‘ใจ’ ทำ เพราะเกี่ยวข้องถึงความซื่อสัตย์สุจริต ที่สำคัญพอการทำงานเป็นอะไรที่ไม่เครียดและผ่อนคลาย ก็จะได้งานที่มีประสิทธิภาพแถมมีความละเอียดขึ้นอีกต่างหาก การช่วยเหลือจะทำให้เราได้อะไรมากมาย เพราะนอกจากจะได้งานแล้ว คุณอาจจะยังได้ใจมาอีกด้วย

6. ให้โอกาสแม้ผิดพลาดบางครั้ง

ถึงแม้งานสายบัญชีจะเป็นสายงานที่ไม่ควรจะมีอะไรผิดพลาด แต่ความผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ นับว่าเป็นเรื่องที่แสนปกติของมนุษย์ หากเกิดความผิดพลาดขึ้นมาจริง ทางฝั่งนักบัญชีเองก็ควรรับผิดชอบต่อสิ่งเหล่านั้น และจัดการแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนับว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และต้องการความละเอียดรอบคอบกันแบบสุด ๆ เพราะฉะนั้นใช่ว่าคนเราจะผิดกันเสียสักครั้งไม่ได้ ผู้ประกอบการก็ควรให้โอกาสในเรื่องพวกนี้บ้างเพื่อความมั่นใจในการทำงานชิ้นต่อ ๆ ไป ตักเตือนตามเห็นสมควร และไม่ควรกดดันจนเกินไปเพราะอาจทำให้งานถัดไปเกิดความผิดพลาดมากขึ้นไปอีกด้วยซ้ำ

ที่มา sme.krungthai.com