ในโลกของการแข่งขันทางธุรกิจ ทุกคนต่างก็ต้องการที่จะมีกำไรสูงๆ กันทั้งนั้น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจึงต้องเร่งปั๊มดันยอดขายให้ทะลุเพดาน แต่การจะเพิ่มยอดขายนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะตลาดผู้บริโภคในแต่ละปีก็ไม่ได้เติบโตมากนัก แต่ยังมีอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้ธุรกิจมีกำไรเพิ่มขึ้นได้ก็คือ การทำให้ต้นทุนของธุรกิจลดต่ำลง หากแต่การจะบริหารต้นทุนของธุรกิจให้ลดลงได้นั้น เอสเอ็มอีจำเป็นต้องรู้จักต้นทุนของตัวเองทุกซอกทุกมุมให้ดีเสียก่อน ซึ่งต้นทุนในการทำธุรกิจสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้
1 ต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) คือต้นทุนพื้นฐานที่เอสเอ็มอีต้องจ่าย ไม่ว่าจะผลิตหรือขายมากน้อยเพียงใด ก็มีต้นทุนที่ต้องจ่ายเท่าเดิม เช่น ค่าซื้อเครื่องจักร ค่าเช่าที่ เงินเดือนพนักงาน ค่าชั้นวางสินค้า ดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคาร ซึ่งต้นทุนคงที่จะถูกคำนวณเป็นต้นทุนต่อหน่วยได้ด้วยการหารเฉลี่ย ยกตัวอย่างเช่น ค่าเช่าที่ ซึ่งธุรกิจต้องจ่ายเดือนละ 10,000 บาท หากขายสินค้าได้ 1,000 ชิ้น ก็จะเท่ากับว่าสินค้า 1 ชิ้น มีต้นทุนค่าเช่าที่เฉลี่ยชิ้นละ 10 บาท และหากขายได้ 10,000 บาท นั่นก็เท่ากับว่าเดือนนั้นเอสเอ็มอีไม่ต้องจ่ายค่าเช่าที่เลย แต่หากเกิดโรคระบาดทำให้ขายสินค้าไม่ได้ ธุรกิจก็ยังต้องจ่ายค่าเช่าที่ 10,000 บาทอยู่ดี ดังนั้นต้นทุนคงที่จึงเป็นต้นทุนที่สามารถนำมาใช้วางแผนการขายได้ เพราะเอสเอ็มอีรู้อยู่แล้วว่าต้นทุนส่วนนี้มีเท่าไหร่แล้วต้องผลิตและขายเท่าไหร่ถึงจะคุ้มทุน
2 ต้นทุนผันแปร (Variable Cost) คือต้นทุนที่จะแปรผันไปตามปริมาณการผลิตหรือการขาย เรียกได้ว่าผลิตมากก็จ่ายมาก หรือไม่ผลิตก็ไม่ต้องจ่าย เช่น ค่าวัตถุดิบ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าคอมมิชชั่น ตัวอย่างเช่น ในการผลิตสินค้า 1 ชิ้น มีค่าพลาสติกที่ใช้เป็นวัตถุดิบ 0.25 บาท เมื่อขายดีจนต้องมีการผลิตเพิ่มอีก 1,000 ชิ้น จึงต้องจ่ายต้นทุนค่าพลาสติกเพิ่ม 250 บาทนั่นเอง ซึ่งต้นทุนประเภทนี้ทำให้เอสเอ็มอีวางแผนบริหารต้นทุนค่อนข้างยาก เพราะไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะต้องผลิตสินค้าเพิ่มมากขึ้น ยกเว้นกรณีที่เป็นสินค้าที่มีฤดูกาล เช่น เสื้อลายดอกสงกรานต์ หมวกซานตาครอส ที่สามารถวางแผนการผลิตล่วงหน้าได้ เพราะเป็นเทศกาลประจำปี นอกจากนี้ต้นทุนผันแปรอาจมีราคาผันผวนไม่คงที่ เช่น ราคาน้ำมัน ราคาเหล็ก เป็นต้น เอสเอ็มอีจึงต้องหมั่นติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจเพื่อวางแผนการผลิต รวมถึงวางแผนการซื้อวัตถุดิบด้วย
การหาจุดที่ทำธุรกิจแล้วคุ้มค่ากับการดำเนินงาน เราเรียกว่าจุดคุ้มทุน ซึ่งก็คือจุดที่ธุรกิจมีรายได้จากยอดขายเท่ากับต้นทุน โดยถ้าหากเอสเอ็มอีสามารถทำยอดขายได้มากกว่าจุดค้มทุนที่คำนวณได้ก็แสดงว่าธุรกิจมีกำไร แต่ถ้ายอดขายต่ำกว่าค่าจุดคุ้มทุนที่คำนวณได้นั่นคือธุรกิจมีต้นทุนมากกว่ารายได้หรือขาดทุน แปลว่าไม่คุ้มค่ากับการดำเนินงาน ดังนั้นการทำธุรกิจเราต้องรู้จุดคุ้มทุนซึ่งสามารถคำนวณได้ดังนี้
เอสเอ็มอีต้องบริหารต้นทุนให้เป็น เนื่องจากการแข่งขันที่นับวันจะรุนแรงมากขึ้น จึงต้องสู้กันด้วยการพยายามลดต้นทุน เพื่อให้ธุรกิจยังคงมีกำไร โดยเริ่มจากการแจกแจงต้นทุนออกมาให้ได้ว่าเป็นค่าอะไรเท่าไหร่ เพื่อจะได้รู้ว่าต้นทุนของธุรกิจส่วนใหญ่แล้วอยู่ที่ไหน จากนั้นก็พยายามลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นลง แต่สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องยึดเอาไว้ให้มั่นคงก็คือ การลดต้นทุนไม่ใช่การลดคุณภาพ เพราะหากสินค้ามีคุณภาพลดลง มันจะไม่ใช่แค่ต้นทุนที่ลดลง แต่ลูกค้าก็จะหาย และรายได้ก็จะลดลงตามไปด้วย
ที่มา www.kasikornbank.com