ตลาดเครื่องสำอางกับโอกาสทางธุรกิจ

     เมื่อผู้หญิงไม่หยุดสวย ช่วยให้ตลาดเครื่องสำอางไทยโตไม่หยุด แบบไม่แคร์เศรษฐกิจหรือการเมือง โดยเฉพาะเครื่องสำอางที่ผลิตจากธรรมชาติ เครื่องสำอางเฉพาะกลุ่ม แม้แต่เครื่องสำอางที่จับตลาดชาวมุสลิมก็มีมูลค่าสูงถึง 5.7 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ นับเป็นขุมทรัพย์ที่เอสเอ็มอีมีโอกาสไม่น้อย สำหรับมูลค่ารวมของอุตสาหกรรมเครื่องสำอางของไทยอยู่ที่ประมาณ 2.51 แสนล้านบาท แยกเป็น ตลาดในประเทศ 66.9% ตลาดส่งออก 33.1%

5 ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางครองตลาดในประเทศ

1. ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว (Skincare)

ที่ครองตลาดเครื่องสำอางสูง ถึง 46.8% แยกเป็นผลิตภัณฑ์

  • ดูแลผิวหน้า 84%
  • ดูแลผิวกาย 16%

2. ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับผม (Hair)

ครองตลาดอยู่ที่ 18.3% แยกเป็น

  • ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม 83%
  • เปลี่ยนสีผม 11%
  • จัดแต่งทรงผม 4%
  • ยึดติดผม 1%

3. เครื่องสำอางสำหรับตกแต่ง (Makeup)

ครองตลาดอยู่ที่ 13.5% แยกเป็น

  • ผลิตภัณฑ์สำหรับผิวหน้า 56%
  • ริมฝีปาก 26%
  • ตกแต่งตา 17%
  • ตกแต่งเล็บ 1%

4. ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทำความสะอาดร่างกาย (Hygiene)

ครองตลาดอยู่ที่ 16.3%

5. น้ำหอม (Fragrance)

ครองตลาดอยู่ที่ 5.1%

     ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวมีการเติบโตสูงสุด เมื่อเทียบกับเครื่องสำอางประเภทอื่นๆ อาจเป็นผลจากสภาพอากาศ มลภาวะต่างๆ ทำให้ความต้องการเครื่องสำอางที่ช่วยปกป้อง หรือซ่อมแซมผิวหรือร่างกายได้รับความนิยม นอกจากนี้ พฤติกรรมคนไทยที่หันมาเพิ่มขั้นตอนในการดูแลผิวหน้า ทำให้เครื่องสำอางประเภทมาส์กหน้า (Mask) ที่มีสารบำรุงผิวเข้มข้นได้รับความนิยมมากขึ้นเช่นเดียวกัน

ตลาดเครื่องสำอางส่งออก

ด้วยคุณภาพมาตรฐานการผลิตและความปลอดภัย ประกอบกับการมีวัตถุดิบผลิตเครื่องสำอาง โดยเฉพาะวัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติ รวมถึงความหลากหลายของประเภทเครื่องสำอาง ซึ่งมีเอกลักษณ์และนวัตกรรมการผลิตที่หลากหลายเครื่องสำอางของไทยจึงได้รับความนิยมในต่างประเทศ

  • ตลาดที่สำคัญ เช่น อาเซียน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และจีน
  • ตลาดที่มีศักยภาพสูงสำหรับเครื่องสำอางไทยได้แก่ประเทศเพื่อนบ้าน กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม
  • ลูกค้าคนหนุ่มสาวคนวัยทำงานมีเพิ่มขึ้น และตอบรับพฤติกรรมการดูแลร่างกายตามค่านิยมสมัยใหม่มากขึ้น
  • ความชื่นชอบในดารานักร้องของไทยผ่านสื่อต่าง ๆ ทำให้เครื่องสำอางจากไทยได้รับความนิยมสูงโดยเฉพาะสินค้าประเภทแต่งหน้าและดูแลผิว

5 กลุ่มตลาดโอกาสทางธุรกิจเครื่องสำอาง

เด็ก ปัจจุบันพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กยุคใหม่เริ่มเปิดกว้างต่อการใช้เครื่องสำอางเพื่อดูแลและเสริมบุคลิกภาพในกลุ่มเด็กมากขึ้น แต่เครื่องสำอางควรต้องมีความปลอดภัย เนื่องจากผิวเด็กมีความบอบบาง

ผู้ชาย หันมาใส่ใจตัวเองเพื่อเสริมบุคลิกภาพ ซึ่งกระแสดังกล่าวเกิดขึ้นทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น จีน เกาหลี โดยคาดว่าผลิตภัณฑ์ดูแลผิวและดูแลเส้นผม น่าจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวและน้ำหอมที่มีการใช้อยู่แล้ว

ผู้สูงอายุ จำนวนผู้สูงอายุทั่วโลกมีประมาณ 1,000 ล้านคน ซึ่งผู้สูงอายุบางกลุ่มมีกำลังซื้อและมีความต้องการสินค้าประเภทเครื่องสำอางที่ตอบสนองความต้องการเฉพาะด้าน เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตรวมถึงการเสริมบุคลิกภาพที่ดี ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว ต่อต้านริ้วรอยให้ดูอ่อนกว่าวัย และผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้สูงอายุ

ประเทศมุสลิม ตลาดเครื่องสำอางสำหรับชาวมุสลิมในตลาดโลกเติบโตเฉลี่ยประมาณ 7% ต่อปี โดยประเภทของเครื่องสำอางที่น่าสนใจได้แก่ เครื่องสำอางที่ใช้สำหรับดูแลเส้นผมสำหรับผู้ชาย และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและดูแลผิวสำหรับเด็ก ซึ่งตลาดมุสลิมที่มีมูลค่าสูงได้แก่ อินเดีย รัสเซีย อินโดนีเซีย ตุรกี มาเลเซีย และบังกลาเทศ ตามลำดับ

นักท่องเที่ยวต่างชาติ เนื่องจากไทยเป็นฐานการผลิตเครื่องสำอางของผู้ผลิตชั้นนำของโลก ทำให้สินค้ามีราคาไม่สูงเมื่อเทียบกับที่ถูกส่งไปจำหน่ายในต่างประเทศ และไทยยังมีสินค้าเครื่องสำอางที่ผลิตจากวัตถุดิบจากธรรมชาติ ทั้งพืชและสมุนไพรที่มีเอกลักษณ์ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่นิยมซื้อ เครื่องสำอาง/ครีมบำรุงผิว 25.5%

4 ข้อต่อยอดธุรกิจความงาม

  • พัฒนานวัตกรรมหรือวัตถุดิบที่มีความแตกต่าง ซึ่งอาจใช้วัตถุดิบและภูมิปัญญาท้องถิ่นมาพัฒนาต่อยอด ขณะเดียวกันต้องใช้วัตถุดิบที่มีความน่าเชื่อถือ เหมาะกับกลุ่มผู้ใช้ เช่น
    • ต้องมีความอ่อนโยนต่อผิวของเด็กและผู้สูงอายุ
    • ส่วนผสมและขั้นตอนการผลิตที่สอดคล้องกับหลักฮาลาลเพื่อจับตลาดกลุ่มผู้บริโภคมุสลิม
  • การสร้างความเชื่อมั่นต่อสินค้า สำหรับเอสเอ็มอีอาจมีข้อจำกัดทางด้านงบประมาณวิจัยและพัฒนา ดังนั้น การมุ่งผลิตสินค้าที่จับตลาดเฉพาะจะง่ายต่อการติดตามตรวจสอบคุณภาพสินค้า
  • ออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะกับกลุ่มลูกค้า เช่น เครื่องสำอางสำหรับผู้สูงอายุควรมีความสะดวกในการหยิบจับ มีรายละเอียดวิธีใช้ที่ง่าย ไม่ซับซ้อน
  • พัฒนาช่องทางการจัดจำหน่าย จากพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่ปรับเปลี่ยนไป มีการค้นหาข้อมูลจากสื่อโซเชียลและออนไลน์ผ่านการรีวิวสินค้ามากขึ้น ผู้ประกอบการจึงควรเพิ่มช่องทางตลาดผ่านออนไลน์เพื่อให้สามารถเข้าถึงตลาดได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น

ที่มา www.smeone.info